หนึ่งปีที่จากลา

12931026_1273585952669096_2673549042389124542_n

เกือบจะให้ผ่านการครบรอบไปแบบเงียบ ๆ จนได้มาเจอรูปนี้

นับถึงตอนนี้ ก็ครบรอบ 3 ปีวันที่เราเอาขาไปแตะนาโกย่าในฐานะนักเรียน ครบ 1 ปีนิด ๆ ที่เรียนจบ และครบปีพอดีสำหรับการจากลา.

ตอนที่ถ่ายรูปนี้ เรายังไม่รู้จักนาโกย่าเลยด้วยซ้ำ ยังนึกว่านาโกย่าเป็นจังหวัด ยังคิดว่าอาหารญี่ปุ่นไม่อร่อย ยังบอกปฏิเสธชาเขียวทุกรูปแบบ . . .

ไม่น่าเชื่อว่า วันนั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เราได้ลองทำอะไรหลาย ๆ อย่าง

1 ปีที่ผ่านมา . . . ไม่รู้จะพูดยังไง
จะบอกว่า คิดถึงนาโกย่าว่ะ ก็ไม่ใช่
ให้พูดว่านึกถึงวันเวลาเหล่านั้นก็ไม่เชิง
หรือ เราแค่นึกถึงคนที่เคยอยู่ด้วยกันที่นาโกย่า . . . นั่นคงใกล้เคียงกับความรู้สึกที่สุดแล้ว

• กว่าจะหางานทำได้ก็ทำเอาเหนื่อยใจไปยกใหญ่ เคยเล่าเรื่องนี้ให้ฟังเมื่อตอนที่ได้งานแล้ว ตอนนี้ดีขึ้นแล้ว งานเยอะเชียวล่ะ สบายใจได้

• เที่ยวเก่ง เที่ยวญี่ปุ่นเก่ง ตั้งแต่เมษาปีที่แล้ววนมาปีนี้ ไปญี่ปุ่นมาแล้ว 3 ครั้ง และคงจะยังมีแพลนไปเรื่อย ๆ เที่ยวสิงคโปร์ก็เก่ง วนไปวนมาครั้งสองครั้ง ปีนี้ยังมีแพลนอีกหนาแน่น
ถึงเวลาจะมีไม่มาก แต่ก็ยังใช้เที่ยวได้อย่างคุ้มค่า . . . เราจะเที่ยวไปจนเดินไม่ไหวเลย !

• ในความร้าย ๆ ก็มีความน่ารักอยู่
เป็น 1 ปีที่เจอคนใจร้ายเยอะมาก (อยากลาก ก.ไก่ไปยาว ๆ) ใจร้ายจนนี่อยากจะถามว่า เอาแบบนี้จริงดิ !! เจอจนเราเองก็เริ่มเปลี่ยนใจไม่อยากใจดีอีกต่อไปแล้ว แต่ก็นะ หันกลับมามองรอบตัว ปีนี้ก็เป็นปีที่ได้เจอคนดี ๆ เจอพลังบวกเยอะเหมือนกัน อย่างน้อยก็มีคนพาไปย้อมใจในวันร้าย ๆ ละเนอะ

• พอเจอคนดี ๆ ถึงจะกลุ่มเล็ก ๆ แต่ก็ทำให้เราเริ่มให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์กับคนรอบตัวมากขึ้น ไม่แน่ใจว่าเพราะโตขึ้นด้วยหรือเปล่า แต่ตอนนี้อยากมีคนกลุ่มนึงที่จะโตด้วยกันไปเรื่อย ๆ

• เวลาชีวิต
บอกเลยว่า พัง มาก
นอนน้อย นอนไม่มีคุณภาพ นอนไม่เป็นเวลา เป็นอะไรที่แย่จริง ๆ การที่แลกเวลานอนกับงานพิเศษแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จะ ทำให้แย่ได้เลยล่ะ แต่ . . . เป็นช่วงที่มี time management ดีเยี่ยม ไม่เคยคิดว่าจะใช้เวลาใน 1 วันได้มีคุณภาพขนาดที่ทำทุกวันนี้ นี่ภูมิใจกับตัวเองมาก และไม่ว่าใครจะมองยังไง แต่ขอให้รู้ไว้ว่าเรารู้ลิมิตของตัวเองดีนะจ๊ะ

• 24 อาทิตย์กับการวิ่ง
เห็นเงียบ ๆ แบบนี้ วิ่งได้หลาย(กิโล)เมตรอยู่นะ :”)
เริ่มวิ่งเพราะซีรีย์ญี่ปุ่นเรื่องนึง จากวิ่งแล้วเหนื่อยทุก 2 นาที ตอนนี้ลงมินิไป 2 รอบแล้ว เวลาดีขึ้นเรื่อย ๆ ปีนี้จะลงฮาล์ฟช่วงกลางปี และเริ่มลากเพื่อน ๆ มาวิ่งด้วยกันแล้ว ช่วงที่ได้วิ่งเป็นโมเม้นที่ช่วยรีแลกซ์หัวใจมาก ๆ ไม่ใช่เพราะแข็งแรงอะไรนะ แต่เพราะเหนื่อยจนคิดเรื่องอื่นไม่ได้ตังหากละ 5555

• ปีที่เท่าไหร่แล้วนะกับภาษาญี่ปุ่น
ฟังออกแล้ว อ่านออกเยอะขึ้นแล้ว จำศัพท์เพิ่มทุกวัน จะผ่าน n2 เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แต่ก็ดีใจที่เดินมาถึงจุดที่ยืนอยู่ตอนนี้ และเริ่มไม่เครียดกับการเรียนมากเกินไปแล้ว เพราะนึก ๆ ได้ว่า การเรียนรู้ที่ดีควรจะเป็นอะไรที่เราได้สนุกไปกับมัน 🙂

ท้ายสุด การไปญี่ปุ่นวันนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้น เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต เป็นวันที่ทำให้เรากล้าออกจาก safe zone ไปเจอว่าจริง ๆ แล้ว safer zone นั้นมีอยู่จริง เราไม่ได้โตขึ้นเลยในสายตาตัวเอง เราแค่เห็นมามากขึ้น เราแค่เจอมากกว่าที่หลาย ๆ คนคิด

ไม่มีอะไรมากหรอก แค่วนกลับมาขอบคุณ.

📷 ถ่ายที่หอ yamate ในเช้าวันแรกหลังเข้าพัก

ปีใหม่ที่ 3 ที่โตเกียว

S__11755523

ห่างหายไปนานเลย กลับมาอีกทีก็ผ่านพ้นปีใหม่ไปเดือนนิด ๆ แล้ว
ยังไงก็สวัสดีปีใหม่ย้อนหลัง และสวัสดีเดือนแห่งความรักละกันนะคะ ขอให้เป็นช่วงเวลาที่มีแต่ความน่ารักเนอะ

หลังจากเรียนจบ ย้ายกลับมาอยู่ไทย ได้การได้งานเป็นหลักเป็นแหล่งแล้วก็ไม่ค่อยได้ไปไหนเลย ส่วนใหญ่ก็ทำงาน ทำงาน ทำงาน กลับบ้าน กลับไปเยี่ยมครอบครัวบ้าง แล้วก็ทำงานอีก สำหรับกุ๊กแล้ว เป็นช่วงเวลาที่ไม่ค่อยมีคุณภาพสักเท่าไหร่ แต่ก็ไม่ถึงกับแย่จนทำให้จิตใจบอบช้ำจนไป

หลังจากทำงานอย่างหนักหน่วง ก็มีคนใจดีชวนไปฉลองปีใหม่ที่ญี่ปุ่นด้วยละค่ะ
ถึงจะบอกว่ามีคนใจดีชวนไปเที่ยว แต่จริง ๆ แล้วก็เดินทางคนเดียว และก็ได้มีอยู่ด้วยกันแค่ไม่กี่วันเท่านั้นเองล่ะค่ะ

ครั้งนี้ เราเดินทางไปญี่ปุ่นช่วงวันที่ 29 ธันวาคม 2561 และกลับมาถึงไทยวันที่ 6 มกราคม2562 ด้วยสายการบิน ANA วู้ววววว เที่ยวข้ามปีไปเลยล่ะ

เราไม่ได้ตื่นเต้นกับการไปญี่ปุ่นครั้งนี้สักเท่าไหร่ เสื้อผ้าก็เอาไปน้อยมาก ของที่เตรียมไปก็ไม่เยอะ ส่วนใหญ่เป็นของฝากให้เพื่อนกับครอบครัวเพื่อนซะส่วนใหญ่

ไม่ตื่นเต้น แต่ก็รอคอยเหมือนกันนะ

นานแค่ไหนแล้วที่เราไม่ได้ไปเหยียบโตเกียว นานแค่ไหนแล้วที่เราไม่ได้พูดแต่ภาษาญี่ปุ่น นานแค่ไหนแล้วที่เราไม่ได้รับความรักจากคนที่นั่น . . .

29 ธันวาคม

เราขึ้นเครื่องที่สุวรรณภูมิแต่เช้า หลังเครื่องประกาศดีเลย์อยู่ครั้งสองครั้ง เรานั้นก็ขึ้นเครื่องปุ๊บหลับปั๊บแบบไม่ได้เสพความบันเทิงใด ๆ บนเครื่อง กว่าจะตื่นอีกทีก็รอทางอาหารสาย ๆ ก่อนจะกลับยาวต่ออีกรอบ ถือเป็นหกชั่วโมงที่ได้หลับแบบมีคุณภาพเลยทีเดียว เราแลนด์ที่นาริตะประมาณบ่ายสามของวันเดียวกัน กลายเป็นว่าถึงเร็วกว่ากำหนดเวลาเดิม

กัปตันประกาศให้เรารับรู้ว่า อากาศข้างนอกหนาวนะ เวลาเร็วกว่าที่คิดนะ แล้วเราก็ทยอยลงจากเครื่องกัน
ระหว่างที่เดินออกจากเครื่อง ลมหนาววูบแรกก็เข้ามาในตัวอาคาร คือ แบบนี้สิ ถึงจะเรียกว่า ลม お帰り (ต้อนรับกลับบ้าน) เราเลยพึมพำ ただいま (กลับมาแล้วนะคะ) ไปหน่อยนึง

ตามกำหนดการแล้วเพื่อนเราต้องมารับทีสนามบินตอนที่เราไปถึง แต่ด้วยความตลกของเพื่อน นางไปแวะเทอมินัลอื่นอยู่ เลยทำให้เราต้องยืนรออีกสิบนาที ก่อนจะไปคัมไปมื้อแรกกันในร้านอาหารของสนามบิน

การเดินทางครั้งนี้ เราฝากตัวไว้กับบ้านเพื่อนครึ่งทริปและนอนโรงแรมอีกครึ่งนึง ถึงจะได้นอนฟรีแค่ครึ่งทริปแต่ก็ประหยัดค่าโรงแรมไปได้ครึ่งหมื่นอยู่นะ อุ่นใจไม่เท่าอุ่นกระเป๋าเงินแล้วล่ะงานนี้

30 ธันวาคม

เราเป็นสายพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ เพื่อนเลยจัดแจงออกเดินทางจากบ้านในชิบะ ไป Kamogawa Sea World ที่ห่างออกไปร่วม 2 ชั่วโมง เราแพ็คขนมกับเครื่องดื่มกันเสร็จสรรพขึ้นรถไฟ นั่นเม้าท์มอย กินขนม ดูวิวอะไรไป จากสถานีรถไฟ ต้องเดินไปอีกร่วม 20 นาทีเพื่อให้ถึง Sea World และเพราะว่าบริเวณนี้อยู่ติดทะเล ทำให้อากาศหนาวกว่าปกติ

S__11755524

อากาศหนาวแค่ไหน คนก็ยังเยอะอยู่ดี ข้างในจัดแบ่งเป็นธีมแม่น้ำ เราใช้เวลาที่นี่ตลอดช่วงบ่าย กว่าจะกลับก็พระอาทิตย์ลับฟ้าไปเสียแล้ว

เรานั่งรถไฟขบวนเดิมกลับบ้าน เป็นสองชั่วโมงที่ยังนั่งแทะขนม อ่านหนังสือ และเล่นเกมต่อคำกันอย่างเคย . . . ไม่ว่าเราจะโตแค่ไหน ชีวิตก็อาจจะต้องการแค่สามอย่างนี้จริง ๆ ก็ได้เนอะ

มื้อเย็นของวันนี้ เพื่อนเราลงมือทำโอโคโนมิยากิ (พิซซ่าญี่ปุ่น) ให้ทาน ส่วนเราก็รับหน้าที่ชงซุปมิโสะเหมือนเดิม พอคัมไปกันเสร็จ กินข้าว ดูทีวีแล้ว แพลนว่าพรุ่งนี้จะไปไหนเสร็จก็แยกย้ายกันเข้านอน

31 ธันวาคม – 1 มกราคม

วันนี้เราตื่นเช้ากว่าปกติ เพราะว่าร่างกายต้องการออนเซ็น ใครที่มาญี่ปุ่นแล้วยังไม่เคยออนเซ็น อยากให้ลองสักครั้ง คิดไว้ว่า ความเขินอายนั้นจะเกิดขึ้นแค่ครั้งเดียว หลังจากผ่านการออนเซ็นครั้งแรกไปแล้ว ไม่มีใครไม่ติดใจเลยนะ 🙂

เราแวะไปออนเซ็นแถว ๆ บ้าน (จริง ๆ ก็ไกลอยู่ เดินไปตั้งครึ่งชั่วโมงแหนะ) แล้วก็ตรงไป Chiba Port Tower และพอไปถึงก็ได้รับรู้ว่า เขาปิดจ่ะ เลยกลายเป็นว่าเดินเล่นแถว ๆ นั้นไป ก่อนจะไปแวะซื้อของฝากให้คุณพ่อคุณแม่ของเพื่อนนิดหน่อยแล้วแวะไปเยี่ยมบ้านเพื่อน

ตอนแรกเราคิดกันว่าจะไปแวะร้านโซบะ กินโซบะก่อนปีใหม่กัน (คนญี่ปุ่นมีความเชื่อว่าคนวันสิ้นปีให้ทานโซบะกันค่ะ) แต่กลายเป็นว่าคุณแม่ของเพื่อนทำโซบะกับเทมปุระรอไว้ให้แล้ว เราก็เลยอิ่มจังตังค์อยู่ครบไปอีกมื้อ หลังจากทานอาหารเสร็จก็ได้ขนมญี่ปุ่นมาเติมกระเพาะของหวานต่อ ก่อนจะนั่งดูทีวีสิ้นปีกัน . . . และแน่นอนจ่ะ นี่ไม่คุยกับใครเลย ตั้งใจดูทีวีมาก กลัวฟังไม่รู้เรื่อง กลายเป็นว่า โดนน้องชายเพื่อนสะกิดเรียกให้มาคุยกันบ่อย ๆ

คืนข้ามปีปีนี้ เราไป Countdown ที่โยโกฮาม่า นั่งรถไฟจากโตเกียวไปชั่วโมงกว่า นับถอยหลังเสร็จ แดนซ์กระจาย ดื่มข้ามคืนกันเสร็จ ขากลับใช้เวลาไปห้าชั่วโมง ระหว่างนั้นก็มีการวิ่งให้ทันรถไฟรอบสุดท้ายของชั่วโมงนั้นประปราย

ใช่ เราถึงบ้านที่ชิบะตอนตีห้ากว่า ๆ

กว่าจะฟื้นก็เกือบเที่ยง เราก็งอแงจะไปออนเซ็นอีกแล้ว เพื่อนเลยแพลนว่า ไปเที่ยวนาริตะซังก่อนแล้วค่อยแวะไปออนเซ็น

เราออกมานาริตะซังเพื่อขอพรปีใหม่ช่วงบ่าย ต่อแถวอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมงกว่าจะได้ขอพร
เมืองนาริตะเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อด้านเซมเบ้และอูนากิ หรือข้าวหน้าปลาไหล อยู่ห่างจากสนามบินนาริตะแค่สถานีรถไฟเดียวเท่านั้นเอง ทั้งเมืองเหมือนมีขายอยู่แค่สองอย่างนี้เลยนะ บรรยากาศก็เป็นเมืองเก่าที่สวยงามพอตัวเลยทีเดียว ถ้ามีเวลาก่อนขึ้นเครื่องกับ แวะมาเดินเล่นก็ดีเหมือนกันนะ

หลังขอพร เราแวะเสี่ยงทายหน่อยนึง แทน แท้น . . . จะเป็นปีที่ดีเยี่ยมจ้า
S__11755525.jpg

แต่อดไปออนเซ็นเพราะมั่วแต่เที่ยวกันจนดึกดื่น

02 มกราคม

ตื่นเช้าเพราะร่างกายกระหายออนเซ็น ฮืออออ นี่มันยาเสพติดเหรอ
สุดท้ายก็ได้ไปออนเซ็นสมใจ ครั้งนี้แช่ไปเกือบชั่วโมง ออกมาตัวแดงไปหมดเลยเชียว จากนั้นก็ทานโซบะไปอีกมื้อ โซบะกับเบียร์ก็เข้ากันอย่างไม่น่าเชื่อ

จากนั้นต้องไปร่วมงานปีใหม่แบบญี่ปุ่นกับครอบครัวของเพื่อน (เป็นปีที่สาม) เกร็งเหมือนเคยเพราะว่าทุกอย่างเป็นญี่ปุ่นไปหมด
ประเพณีของครองครัวนี้ คือ จะมีการเล่าเรื่องสำคัญ ๆ ของปีที่แล้วกัน และแน่นอน เราก็ต้องพูด ตัวสั่นรวนไปหมด จากนั้นคุณพ่อของเพื่อนก็มาคุยเล่นกับเรา เราก็เป็นสายรินเหล้า รินเบียร์ ยกอาหารให้ไป สนุกสนานกันอยู่หกชั่วโมงกว่า กว่าจะโดนปล่อยตัวกลับบ้าน

S__11755531.jpg

วันนี้เราย้ายออกจากบ้านเพื่อน จากพรุ่งนี้ไปเพื่อนเราต้องไปต่างจังหวัดเรื่องงาน ถือว่าช่วงที่พักฟรี อาหารฟรีได้จบลง

03 มกราคม

วันแห่ง disney sea 🙂

S__11755526.jpg

เป็นอีกวันที่สนุกมาก ๆ เล่นเกือบทุกอย่างเลย วันนี้ ความชื้นในอากาศต่ำมาก รู้สึกว่าจะไม่ถึงสิบเปอร์เซนต์ด้วยซ้ำ ระหว่างที่ยืนรอเครื่องเล่นท่ามกลางความเหน็บหนาว ก็ผิวแห้งจนต้องเติมโลชั่นกันอยู่เรื่อย ๆ

ผ่านการมาสวนสนุกฤดูหนาวครั้งนี้แล้วบอกได้เลยว่า จากนี้ไป ให้ไปสวนสนุกฤดูอะไรก็ไปได้หมดแล้ว เพราะฤดูหนาวเนี่ยทรมานที่สุดแล้ว

04 มกราคม

เดินเที่ยวในเมืองโตเกียว กินแล้วก็ช้อป แล้วก็กินแล้วก็ช้อป แล้วก็กินแล้วก็ช้อป
จากนั้นเราก็ไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ศิลปะโตเกียว แล้วก็กินแล้วก็ช้อป แล้วก็กินแล้วก็ช้อป

S__11755528.jpg

ตอนกลางคืนที่โรงแรมมีเรื่องน่าตกใจนิดหน่อย อยู่ดี ๆ สัญญานไฟไหม้ดัง จากนั้นก็ประกาศว่าชั้นแปดไฟไหม้ (ห้องพักเราอยู่ชั้นห้าและเรากำลังอาบน้ำ) ก็เลยรีบแต่งตัวออกมาดู ปรากฎว่าจริง ๆ แล้ว เป็นการเตือนผิดพลาด ทำเอาใจหวิว ๆ ไปทั้งตึก

05 มกราคม

เราแทบจะไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากช้อป เดินไปไหนมาไหนก็มีแต่ของน่ารัก จากนั้นกลับห้องมายัดของใส่กระเป๋า พักผ่อน เตรียมตัวกลับกทม.

06 มกราคม

วันสุดท้ายแล้ว ต้องกลับแล้ว ก็เช็คเอ้าท์แล้วก็เอาของไปฝากไว้ที่สถานีโตเกียวจากนั้นก็แวะไปขอพรที่ Senso-ji หรือวัดอาสากุสะที่เรารู้จักกัน ไปรับควันแห่งความฉลาดเข้าตัวนิดหน่อย แล้วก็เตรียมตัวไปสนามบิน

อย่างที่เกริ่นแต่แรกว่าเป็นทริปที่มีเพื่อนใจดีชวนไปเที่ยว
ทริปนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าขาดเพื่อนคนนี้ ขอบคุณเป็นภาษาไทยไปเขาก็คงไม่รู้เรื่องเนอะ

今までありがとう、今からよろしくね。

S__11755529.jpg

บันทึกประจำ 2 ปี : ภาษาญี่ปุ่น

สวัสดีค่ะ
เราจะแอบบันทึกสิ่งที่เราเคยผ่านมา เกี่ยวกับภาษาญี่ปุ่นค่ะ
เราได้มีโอกาสไปเรียนปริญญาโทที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนเมษายน 2016 เกริ่นก่อนว่า เราไม่มีความรู้ด้านภาษาญี่ปุ่นเลย และคอร์สปริญญาโทที่เราไปเรียนก็เรียนเป็นภาษาอังกฤษล้วน เพื่อนในคณะมีคนญี่ปุ่นประมาณครึ่งนึง แต่ทุกคนอยากใช้ภาษาอังกฤษกันมาก ๆ เลยทำให้ เราแทบจะไม่มีโอกาสในการเรียนภาษาญี่ปุ่นเลยจากเพื่อน เซนเซย์ หรืออะไรก็ตามในคณะ ยกเว้นประกาศด้วยตัวคันจิยาก ๆ ที่ อ่านไปก็แทบจะไม่เข้าใจเลย

ออกตัวเพิ่มอีกนิดนึงว่า ตอนนี้ก็ยังไม่เก่ง กำลังเตรียมสอบวัดระดับอยู่ค่ะ แต่อยากให้กำลังใจเพื่อน ๆ ที่กำลังผ่านความยากลำบากในช่วงเริ่มเรียน ให้สู้ไปด้วยกันนะคะ

Elementary l
เราเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่น แบบเริ่มจาก อะ อิ อุ เอะ โอะ เลยประมาณช่วงเดือนตุลาคม 2016 มหาวิทยาลัยของเรามีคอร์สภาษาญี่ปุ่นสำหรับนักศึกษาต่างชาติให้ลงได้ฟรี ๆ ถ้าสนใจอยากจะเรียน
เราได้ลงทะเบียนเรียนระดับเบบี๋สุด เป็นการเรียน อาทิตย์ละ 5 วัน วันละ 1.5 ชั่วโมง จะเรียนกับเซนเซย์คนญี่ปุ่นที่พูดภาษาอังกฤษได้บ้าง และตำราเรียนเป็นของมหาวิทยาลัยเอง ไม่ได้ใช้ตำราที่เราเห็นตามท้องตลาด
เรารู้สึกว่าหนังสือเรียนของมหาวิทยาลัยค่อนข้างดี ตรงที่เขาจะจำลองเป็นเหตุการณ์ ๆ ไป และเป็นเหตุการณ์ที่ค่อนข้างใกล้กับชีวิตจริง เช่น การไปส่งของที่ไปรษณีย์ การไปธนาคาร ทำให้เราได้ลองเอาไปใช้จริง ๆ ด้วย
คุณครูมีทั้งคนที่สอนดีมาก ๆ และสอนไม่ค่อยโอเค การสอบก็จะเป็นข้อเขียน และถามตอบ จะเป็นคำถามสั้น ๆ

หลังจบคอร์สนี้ (ประมาณ 4 เดือน) เรายังพูดอะไรไม่ได้เลยล่ะ คือ ได้เป็นประโยคง่าย ๆ คำศัพท์ง่าย ๆ คันจิระดับป. 1 ไม่สามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงเลย ตอนนั้น เราท้อมาก เพราะว่าเราตั้งใจเรียนแล้วทำไมถึงยังสื่อสารไม่ได้ . . . นั่นแหละค่ะ คาดหวังเกินเหตุ เพิ่งเรียนมาไม่กี่เดือนจะอยากพูดได้คล่อง ๆ ก็เป็นไปได้ยากเนอะ
Elementary ll and Pre-intermediate
ต้นปี 2017 เราเร่งเรียนภาษาญี่ปุ่นมากกว่าเดิม โดยเพิ่มการเรียนจากวันละ 1.5 ชั่วโมงเป็น วันละ 3 ชั่วโมง ซึ่งไม่สนุกเอาซะเลยล่ะ เป็นการเรียนที่เร่งมาก ๆ พร้อมกับเราต้องเริ่มเตรียมเขียนธีสิสแล้ว ทุกอย่างเลยค่ะข้างระอุไปหมด
หนังสือเรียนก็ยังเป็นของมหาวิทยาลัย และความต่างของคอร์สที่นี่กับที่อื่น ๆ ทีรู้สึกได้ คือ เขาจะไม่สอนแกรมม่าแบบเทกระจาด เขาจะเน้นแกรมม่าตัวเดิมแต่ให้ลึกขึ้น เช่น การใช้คำสุภาพ ตอนตัวแรก ๆ ก็เรียนแบบเบสิก พอเรียนไปเรื่อย ๆ เขาก็จะเอาเรื่องคำสุภาพกลับมาในเวอร์ชั่นที่ยากขึ้น ลึกขึ้น เป็นต้นค่ะ
แต่ช่วงนี้เป็นช่วงที่เรามีพัฒนาการด้านการฟังและพูดมากที่สุดเลยล่ะ จำได้ว่าตอนที่เราเริ่มเรียนคอร์สนี้ เรามีเพื่อนคนญี่ปุ่นที่พยายามพูดทุกอย่างกับเขาเป็นภาษาญี่ปุ่น แต่ตอนแรก ๆ ใช้ภาษาอังกฤษซะเยอะ
เราเป็นคนที่อ่อนเรื่องคำศัพท์มาก ๆ และใช้แกรมม่าค่อนข้างงง อาจจะเพราะว่าเราคิดเป็นภาษาอังกฤษ เลยทำให้ประโยคซับซ้อนเกินความจำเป็น
แต่หลังจากที่เราผ่านความทรมานของคอร์สนี้แล้ว เราสามารถพูดกับเพื่อนเป็นภาษาญี่ปุ่นได้โดยไม่ต้องใช้ภาษาอังกฤษปนค่ะ เรื่องที่พูดจะเป็นเรื่องที่ไม่ซับซ้อน อาจจะเป็นบทสนทนาทั่วไป ไม่ใช่อะไรที่ต้องใช้คำเฉพาะเยอะ ๆ เพื่อเราบอกว่าคอร์สนี้ทำให้ภาษาญี่ปุ่นของเราโตจากระดับเด็กสองขวบเป็นเด็กเจ็ดขวบได้ในเวลา 4 เดือน ตอนนั้นเราภูมิใจมาก ๆ ที่เริ่มสนทนา เป็นภาษาญี่ปุ่นได้ดีขึ้น เวลาไปเที่ยว เราก็เริ่มได้เป็นคนคอยสื่อสารภาษาญี่ปุ่นให้เพื่อน ๆ เป็นอะไรที่ดีมาก ๆ เลยล่ะ

ฟังได้เยอะขึ้น พูดได้เยอะขึ้น แต่สิ่งที่เราไม่พัฒนาเลยคือ ทักษะการอ่าน และตัวคันจิ อาจจะเพราะว่าเราใช้ความเคยชินในการฟังและพูดจากสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังได้พูดในชีวิตประจำวัน แต่ว่าเราไม่ได้อ่าน การอ่านและการเขียนเป็นเรื่องที่ยาก แม้ว่าช่วงท้าย ๆ คอร์สเขาเริ่มให้เราเขียน speech ที่ยาวประมาณ 10 นาที หรือให้เราอ่านบทความที่มีความซับซ้อนมากขึ้น แต่เป็นอะไรที่ยากจริง ๆ

คุณครูที่สอนคอร์สนี้มีประมาณ 6 คน วนกันสอน บางคนสอนแกรมม่าเก่ง บางคนสอนฟังเก่ง เป็นช่วงเวลาที่เครียดและสนุกไปพร้อม ๆ กัน การสอบก็จะเป็นข้อเขียน เล่าเรื่อง และถามตอบ ของคอร์สนี้ เขาจะให้หัวข้อเรามาเตรียมพูดกับเซนเซย์ที่สอบ หลังจากนั้น ก็มีการถามตอบกันนิดหน่อย และมีพาร์ทนึง มีการสอบเป็นการโทรหาเซนเซย์ โดยให้เราโทรเข้าไปหาเซนเซย์ในห้องจริง ๆ ทำเอาทุกคนเกร็งกันไปหมด

หลังจบคอร์สนี้ (ประมาณ 4 เดือน) อย่างที่บอกไป คือ เราพูดและฟังได้มากขึ้น แต่ยังไม่ถึงระดับฟังข่าว หรือว่าทีวีญี่ปุ่นได้ ทำได้แค่ฟังประกาศสั้น ๆ และแอบฟังบทสนทนาในชีวิตประจำวันได้ ถ้าเป็นระดับ ก็น่าจะเป็นระหว่าง N4 กับ N3 ค่ะ
Intermediate
เทอมสุดท้ายก่อนกลับไทย เราเรียนคลาส Intermediate ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ไม่รู้ว่าผิดหรือถูกเหมือนกัน ตอนนั้นเราต้องเขียนธีสิสอย่างจริงจัง เพราะเป็นเทอมสุดท้ายแล้ว คลาสนี้ก็หนักหนาสาหัสมาก เพราะงานเขียนและมีการบ้านอ่านค่อนข้างเยอะ
การเรียนค่อนข้างโหด ตารางแน่นแบบแน่นเอี๊ยด ขยับไปไหนไม่ได้เลย เพราะถ้าขาดเรียนครั้งนึง ก็จะตามไม่ค่อยทัน เราเองเป็นคนที่ไม่ค่อยเก่งคันจิด้วย ทำให้ตามหลังเพื่อน ๆ ที่เก่งคันจิอยู่พอตัว

เรื่องการฟัง แกรมม่า คำศัพท์จะเป็นการเรียนในระดับ N2 ส่วนหนังสือที่ใช้ในส่วนการอ่าน คือ หนังสือของมุราคามิ แต่เราจำชื่อหนังสือไม่ได้ >< ในคลาสมีการนำเสนอเป็นภาษาญี่ปุ่นบ่อยมาก ๆ และหัวข้อก็ไม่ใช่หัวข้อที่เราจะนั่งเขียนเองได้ แต่ต้องออกไปสัมภาษณ์หรือเรียนรู้จากคนข้างนอกจริง ๆ เช่น เราต้องไปเรียนการชงชาที่ร้านชาข้างนอกจริง ๆ เป็นอะไรที่ค่อนข้างท้าทายมาก ๆ
เพราะเราเขียนธีสิสเป็นหลัก เราเลยไม่ค่อยได้ทุ่มเทให้คลาส สิ่งที่ได้จากคลาสนี้ก็ยังเป็นเรื่องการฟังและพูดที่พัฒนาขึ้น ส่วนการอ่านนั้น เราแทบจะไม่ได้แตะเลย แบบอ่านไปลวก ๆ ก่อนเข้าคลาส ซึ่ง ไม่ได้เป็นผลดีเท่าไหร่

เราเรียนจบคลาสนี้ พร้อมกับความสามารถในการดูหนังญี่ปุ่นแบบไม่มีซับได้ (แต่เป็นเรื่องที่ใช้คำง่าย ๆ อย่าง orange) กับดูข่าวสั้น ๆ เริ่มรู้เรื่อง เราทำงาน part time ในบริษัทญี่ปุ่นที่ใช้แต่ภาษาญี่ปุ่นได้ ถึงแม้จะไม่สามารถจะสื่อสารทุกอย่างได้ แต่ก็พอบอกเขาได้ว่าต้องการอะไร หรือมีคำถามอะไร
เราสอบผ่าน N3 แบบไม่ได้เตรียมตัวอย่างเต็มที่ เพราะว่ายุ่งวุ่นวายกับการเขียนธีสิส ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เราอยากพัฒนาตัวเองต่อไป

After graduation
หลังจากเรียนจบ เราก็กลับมาไทย ไม่ค่อยได้ใช้ภาษาญี่ปุ่นเหมือนเมื่อก่อนแล้ว
เราจัดตารางให้ตัวเองต้องฟังข่าวญี่ปุ่นทุกเช้า แบบเป็นญี่ปุ่นล้วน ก่อนนอนต้องมีอ่านหนังสือนวนิยายเด็กของญี่ปุ่นสักนิด ๆ หน่อย ๆ พยายามท่องศัพท์แต่ไม่ค่อยเป็นผลเท่าไหร่
นอกจากนี้ก็เริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นที่ Japan Foundation เราเรียนระดับที่คนสอบผ่าน N3 เรียนกัน มีเซนเซย์คนไทยกับญี่ปุ่นสลับกันสอน การเรียนค่อนข้างช้า ไปเรื่อย ๆ

พอจบหนึ่งคอร์ส ตอนนี้ก็เริ่มเปลี่ยนเป็นภาษาญี่ปุ่นเพื่อการทำงานแล้ว เผื่อว่าจะได้ไปทำงานที่ญี่ปุ่นในอนาคต 

จากวันนั้น ถึงวันนี้ พอได้มองกลับไปแล้วก็ดีใจที่เราเริ่มจากไม่เข้าใจอะไรเลย จนตอนนี้ก็พอจะกล้อมแกล้มเข้าใจได้บ้าง อ่านข่าวได้เยอะขึ้น ฟังข่าวได้ดีขึ้น ดูหนังญี่ปุ่นได้เยอะขึ้น อ่านการ์ตูนได้เยอะขึ้น เป็นอะไรที่ทำให้มีพลังในการจะเรียนรู้ต่อไป สิ่งที่ต้องแลกกับความรู้สึกดี ๆ แบบนี้ คือ เวลาและความสามารถด้านภาษาอังกฤษที่อยู่ดี ๆ ก็หดหายไปจนเราเองก็งง จากตอนแรกพูดภาษาอังกฤษได้ค่อนข้างดี ตอนนี้ภาษาอังกฤษเรามาหลังภาษาญี่ปุ่น ทำให้เราต้องพยายามเอาภาษาอังกฤษให้อยู่ในระดับเดิม เป็นอะไรที่ท้าทายมากมายเลยทีเดียว

ตอนนี้เรากำลังเตรียมตัวสอบวัดระดับอยู่ค่ะ ยังไงใครจะสอบ เรามาสู้ไปด้วยกันนะคะ

ความสัมพันธ์ที่ไม่มีชื่อเรียก

“ความสัมพันธ์ที่ไม่มีชื่อเรียก”
คำพูดแบบคำคมนิด ๆ ขัดแย้งในตัวเองหน่อย ๆ แบบนี้ เราน่าจะได้ยิน ได้เห็นมาจากที่ไหนสักแห่งนึง
แต่นอกจากจะเคยได้ยินมาแล้วนั้น เรายังได้สัมผัสกับความรู้สึกแบบ “ไม่มีชื่อเรียก” อยู่บ่อย ๆ
ไม่ว่าจะเป็นการโดนยืมเงินจากคนใกล้ตัวเพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมที่ “ไม่มีชื่อเรียก”
หรือการนัดเจอกันกับเพื่อนที่มีความสัมพันธ์กันแบบ “ไม่มีชื่อเรียก”

คำนิยาม การให้คำจำกัดความนั้น มีความสำคัญในการสร้างความกระจ่าง ทำให้เห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เป็นการขีดเส้นว่า ถ้าถูกนิยามแบบนี้ ก็ต้องเป็นแบบนี้ จะให้เป็นแบบอื่นไปไม่ได้
การไม่ถูกนิยาม บางครั้งจึงเป็นเหมือนความเบลอเบลอ เป็นความไม่ชัดเจน . . .

แต่กับมนุษย์ กับความสัมพันธ์ ก็มีหลายครั้งหลายคราวที่ ความไม่ชัดเจนเป็นส่วนประกอบของเรื่องราว
กับคนรัก บางครั้งเราก็เป็นเพื่อน บางครั้งเราก็เป็นคนรัก และบางครั้งเราก็กลายร่างเป็นแม่มด
กับคนรัก คนเดิม บางครั้งเขาก็ชัดเจน บางครั้งเขาก็จางหาย บางครั้งเขาก็นิ่งเฉย

กับคนรักคนเดิม แต่ความสัมพันธ์เปลี่ยนแปลงไป จนท้ายสุดแล้ว เราต่างไม่เรียกกันว่า คนรัก . . . แต่ไม่รู้จะเรียกกันว่าอะไร

เราก็ไม่ต่างอะไรจากเขา บางครั้งเราก็ยังอยากเติบโตไปในแบบของเรา อยากจะออกไปพบเจอผู้คนรอบตัวเรา อยากจะได้เลือกเส้นทางของตัวเอง . . . และมีเขาเป็นแรงใจ เป็นคนที่คอยสนับสนุนการกระทำของเรา

ถ้าเราชัดเจนกับความสัมพันธ์ แล้วความฝันของเราจะยังชัดเจนอยู่มั้ย
ถ้าเขาชัดเจนกับความฝัน แล้วความสัมพันธ์ของเราจะยังชัดเจนอยู่หรือเปล่า

แด่ คุณ . . . ผู้ไม่มีชื่อเรียก

ชีวิตนักเรียนทุน ADB – JSP : Gap Months (ตอนที่ 8)

2 เดือนหลังจากเดินทางกลับมากลิ้งไปกลิ้งมาอยู่ที่ประเทศไทย.

เวลาเดินไวอย่างกับโกหก เผลอแป๊บเดียว เราจบปริญญาโทมาเกือบสองเดือนแล้ว กลับไปเที่ยวญี่ปุ่นมารอบนึงแล้วด้วย สัมภาษณ์งานไปเกือบยี่สิบครั้ง . . . แถมอีกหลายครั้งก่อนเรียนจบ เหนื่อยมาก ๆ เลย

สองเดือนที่ผ่านมา เราติดอยู่ใน reverse culture shock จนต้องแอบหนีกลับไปดึงสติที่ญี่ปุ่นรอบนึง ตอนนี้ก็ยังมีอยู่บ้าง แต่ก็ดีขึ้นเยอะแล้ว

เรื่องงาน คือ พังมาก ๆ

เรามีงานพิเศษทำเกือบทุกวัน มีรายรับได้ไม่พอสำหรับการมีชีวิตอยู่ในเมืองหลวง มีงานทำวันละไม่กี่นาที หรือบางวันก็อาจจะเป็นชั่วโมง แต่จะเป็นช่วงดึกถึงเช้ามืด

งานก็ดึก สัมภาษณ์ก็โดนปฏิเสธไปเยอะ พังพาลไปถึงร่างกาย การหลับการนอนอย่างกับอยู่อเมริกา จนสุดท้ายพังไปถึงการจัดการของความคิด . . .

มีอยู่วันนึงที่เราร้องไห้ทั้งคืน ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่าร้องทำไม ออกมาข้างนอกก็กังวลกลัวจะโดนทำร้าย ขึ้นรถตู้ก็ร้องไห้ ยาววนไปเป็นวัน ๆ

ดีว่ามีเพื่อนน่ารักหลายคนอยู่รอบ ๆ ตัว บางทีก็โทรชวนคนนู้น คนนี้ไปกินข้าว ไปดูหนัง บางทีก็มีเพื่อนชวนไปดูคอนเสิร์ต มันช่วยให้เราคลายกังวลได้ช่วงนึง

แต่พอกลับมาถึงบ้าน ความเศร้ามันก็กลับมา ค่อย ๆ กลืนกินเราไปเรื่อย ๆ

เป็นช่วงเวลาที่น่ากลัว เป็นช่วงเวลาที่วัดใจมาก ๆ ยิ่งมืด ยิ่งดึก จิตใจก็ยิ่งดิ่ง เหมือนมันมีหลุมอะไรอยู่กลางตัว ขยับไปไหนไม่ได้ . . .

จนเราตัดสินใจคุยกับพี่คนนึงที่เป็นนักจิตวิทยา เราเอาคำแนะนำของพี่เขามาประยุกต์ใช้ . . .

จนเราได้ offer งานอย่างเป็นทางการ 🙂

ตอนนี้อยากจะมาให้กำลังใจ บางคนที่เพิ่งจบ ยิ่งจบนอกมา ความคาดหวังก็สูง ความกดดันยิ่งสูง ชีวิตที่สัมภาษณ์ไปไม่รู้กี่ครั้ง โดน reject จนชินชา มันเป็นช่วงเวลาแย่ ๆ ที่ไม่รู้จะผ่านไปเมื่อไหร่

เราเข้าใจว่ามันยาก เราเข้าใจว่ามันไม่ใช่เวลาที่หอมหวาน (อย่างที่หลาย ๆ คนคิด) แต่อยากให้นึกไว้ว่า ไม่ว่ายังไง เราก็ยังมีคนที่อยู่ข้าง ๆ เรา คนที่ไม่ว่าเราจะเป็นตายร้ายดียังไง เขาจะไม่ทิ้งไปไหน ถ้าวันนึงเครียดหรือเศร้าขึ้นมา อย่าลืมมองหาเขา แล้วถ้าวันไหนที่เขาเป็นกังวลหรือต้องการความช่วยเหลือ ก็อย่าลืมยื่นมือไปช่วยเขาเป็นการตอบแทน

ขอบคุณทุกคนจริง ๆ ที่ทำให้เราก้าวผ่านเรื่องราวที่เราคิดว่าใหญ่ที่สุดในชีวิตเรามาได้ ขอบคุณจริง ๆ 🙂

ปล. ไม่ tag หรอก ให้มาอ่านเอง

ปล. อ่านแล้วยิ้มด้วยล่ะ

05/30/18

ชีวิตนักเรียนทุน ADB – JSP : กลับประเทศ (ตอนที่ 7)

สวัสดีค่ะ

ไม่เจอกันนานเลยเนอะ วันนี้ก็ครบรอบสองปีนิด ๆ จากวันที่เราได้เริ่มไปเรียนที่ญี่ปุ่นด้วยทุนจาก ADB แล้ว และ ก็เรียนจบแล้วจ้า :))

เราเพิ่งรับปริญญาไปเมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมานี่เอง และเพิ่งจะกลับมาถึงเมืองไทยเมื่อต้นเดือนเมษา ตอนนี้ก็เข้าสู่กระบวนการหางานกันต่อไปเนอะ

มีหลายคนถามว่าทำไมไม่ทำงานที่ญี่ปุ่นไปเลย ทำไมไม่อยู่ต่ออีกสักหน่อย จริง ๆ แล้ว เราเองก็อยากจะอยู่ยาว ๆ เลย แต่ว่า ทุนการศึกษาของเราบอกว่า พอเรียนจบแล้ว ให้กลับมาพัฒนาประเทศตัวเอง ก็เลยกลับมา ด้วยความหวังว่าจะมีอะไรมาช่วยพัฒนาประเทศได้บ้าง

ก่อนย้ายกลับมาก็ค่อนข้างยุ่ง กับการย้ายออก การเก็บของกลับบ้าน และการแคนเซิลสัญญาต่าง ๆ อีกเยอะแยะเลยล่ะ

การย้ายออกจากหอ และการทิ้งขยะชิ้นใหญ่

ที่ญี่ปุ่น การย้ายออกเป็นเรื่องชวนกังวลใจไม่น้อย เพราะการทิ้งขยะในญี่ปุ่นนั้น แตกต่างจากบ้านเราค่อนข้างมาก
เราเตรียมตัวล่วงหน้าก่อนย้ายออกประมาณหนึ่งเดือนเลยล่ะ
สิ่งที่ต้องทำคร่าว ๆ
1. ติดต่อเจ้าของบ้านว่าจะย้ายออก ตกลงวันและเวลาให้เรียบร้อย
2. เคลียร์ของทิ้งและแจก
3. นัดวันตัดแก๊ส ไฟฟ้า และน้ำ
4. เตรียมส่งของกลับประเทศ
5. ทำความสะอาดห้องให้เอี่ยมอ่อง

มาลงรายละเอียดกันนิดนึง
1. ติดต่อเจ้าของบ้านว่าจะย้ายออก ตกลงวันและเวลาให้เรียบร้อย
เราได้หอที่ไม่ได้ผ่าน agency เลยต้องติดต่อกับเจ้าของห้องโดยตรง แต่ตอนที่เราเซ็นสัญญาเขาก็พอจะรู้คร่าว ๆ แล้วว่าเราจะกลับประเทศช่วงเดือนเมษา สุดท้ายเราก็ตกลงกันว่า เราจะต้องย้ายออกประมาณวันที่ 20 มีนาคม แล้วเจ้าของห้องเขาจะนัดเวลาเข้ามาตรวจห้องก่อนออก

นอกจากแจ้ง เจ้าของห้องแล้ว เราก็ยังต้องส่งเอกสารการย้ายออกไปที่มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นหน่วยงานที่เป็นผู้ประกันการเชาบ้านของเราด้วย เพราะว่า ยังไม่ครบสัญญาประกันที่เราทำไป ทำให้เราได้เงินประกันคืนบางส่วนด้วยละค่ะ

ของเราตอนย้ายออกนั้น ไม่มีปัญหาอะไร เจ้าของห้องมาดู ขอเช็คห้องนิดหน่อย คืนกุญแจก็เรียบร้อย 🙂

2. เคลียร์ของ
เราเริ่มจากลิสต์ดูว่าของชิ้นไหนจะแจก จะขาย จะทิ้ง
วิธีที่ประหยัดที่สุดในการเคลียร์ของ คือ การที่เราแจกของให้คนอื่น ๆ
ส่วนของบางชิ้น เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้า หรือว่าของชิ้นใหญ่ ที่เราอยากจะทิ้ง เราต้องต้องติดต่อกับทางเขต หรือบริษัทที่จะมารับของล่วงหน้า ซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายมากน้อย แล้วแต่ว่าเราทิ้งแบบไหน (รายละเอียดแต่ละเขตต่างกัน เลยแนะนำให้ติดต่อกับเขตที่อยู่เลยดีกว่าเนอะ)

การทิ้งขยะของญี่ปุ่นต่างจากเมืองไทยที่เราต้องทิ้งตามวันที่กำหนด ก็ลงดูว่าพวกขยะเผาไม่ได้ หรือขยะที่นาน ๆ เก็บครั้งเขาจะมาเมื่อไหร่ จะได้แพลนวันที่จะทิ้งได้ล่วงหน้า

ของส่วนใหญ่ของเรา คือ ทิ้ง และแจกให้เพื่อน ๆ คนไทย และคนรู้จัก ขอบคุณทุกคนมากที่รับของต่อจากเราไป แต่ก็มีปัญหากับของชิ้นใหญ่ พวกเตียง เครื่องซักผ้า และตู้เย็นเหมือนกัน ตอนแรกก็โทรไปติดต่อกับบริษัทรีไซเคิลว่าจะทิ้ง แต่พอเขาเรียกค่าทิ้งมาหลักหมื่นเยน เราก็เลยตัดสินใจจะขายและพยายามแจกต่อไป
และก็ได้ ผู้ใหญ่ และเพื่อน ๆ ช่วยหาคนมารับของไป และขายเตียงไปได้ในราคาถูก (แต่ก็ดีกว่าต้องเสียเงินเนอะ)

3. นัดวันตัดแก๊ส ไฟฟ้า และน้ำ
อันนี้ต้องคุยกับเจ้าของบ้านด้วยว่าจะให้เราตัดตัวไหนบ้าง
พวกบิลเก็บค่าอะไรพวกนี้เดือนท้าย ๆ ให้เก็บเอาไว้ เผื่อดูเบอร์โทรศัพท์ ที่จะโทรไปขอให้เขามาตัด เขามักจะแนะนำให้เราโทรจองล่วงหน้าประมาณสองอาทิตย์ ยิ่งถ้าเป็นช่วงที่คนย้ายออกเยอะ เขาจะยุ่ง ๆ กัน โทรไปแต่เนิ่น ๆ ก็ดี อ่อ แล้วเขาน่าจะไม่พูดภาษาอังกฤษนะคะ ถ้ามีเพื่อนคนญี่ปุ่น หรือ พูดญี่ปุ่นได้ ก็ฝากให้เขาโทรให้เนอะ

4. เตรียมส่งของกลับประเทศ
เราศึกษาจากลิงค์นี้เลยค่ะ เรียนจบแล้ว แต่จะขนของกลับไทยยังไงดี ??

ของของเราไม่เยอะมาก เราเลยส่งกับ Yucho หรือไปรษณีย์ญี่ปุ่น น้ำหนักประมาณ 12 กก. ราคา ประมาณ 11000 เยนค่ะ

5. ทำความสะอาดห้องให้เอี่ยมอ่อง
เพราะว่าเราติดต่อบ้านโดยตรงจากเจ้าของบ้าน เขาเลยขอให้เราทำความสะอาดให้ดีหน่อยนึง แต่ว่าบางที่ เราสามารถจ่ายเงินให้เขาช่วยทำความสะอาดได้ค่ะ เราก็ทำความสะอาดอยู่ราว ๆ สามวัน แล้วทุกอย่างก็เรียบร้อย สบายมาก 🙂

ตัดบัตรเครดิต โทรศัพท์ และย้ายออก
1.ตัดโทรศัพท์
โทรศัพท์ของเราใช้ของ au ที่พอตัดปุ๊บ สัญญาณก็จะหายไปเลย ไม่สามารถขอให้ตัดวันอื่นได้ ค่าตัดก็จะมีค่าผิดสัญญา เพราะว่าเราใช้ไม่ครบ 24 เดือน และค่าโทรศัพท์อีก 1-2 เดือน แล้วแต่สัญญา เราสามารถจ่ายเป็นเงินสดได้เลย หรือว่าจะให้เขาตัดบัญชีก็ได้

สำหรับคนที่อยากเอามือถือกลับมาใชที่เมืองไทย ให้ขอให้เขา unlock sim ให้เลยนะ ให้ลองเอาซิมไทยหรือซิมอื่นไปใส่ดูเลยว่าได้จริง ๆ หรือเปล่า เพราะว่ามือถือของเรานั้น ตอนแรกเขาบอกว่า unlock sim ให้แล้ว แต่พอกลับมาถึงไทย ปรากฎว่าใช้ไม่ได้ เราได้ลองถามไปทาง au เขาบอกให้เอาโทรศัพท์เข้าไปติดต่อที่ร้าน ภายใน 100 วันนับจากวันตัดสัญญาณ (แง้) ตอนนี้เลยได้มือถือเครื่องใหม่มาใช้แทนแล้วจ้า

2. ตัดบัตรเครดิต
วิธีที่ทุกคนแนะนำสำหรับการตัดบัตรเครดิต คือ การโทรไปตัด แต่ว่า . . . ไม่มีคนพูดภาษาอังกฤษคุยกับเรา 555 เลยแนะนำให้คนที่พูดญี่ปุ่นช่วยตัดให้ แต่เราต้องอยู่ตรงนั้นด้วยนะ เพราะเขาจะให้เรายืนยันข้อมูลส่วนตัวในการตัดบัตรเครดิตด้วยล่ะ

3. ย้ายออก
เราต้องไปที่ ward office เพื่อขอย้ายออก และตัดประกันสุขภาพ ไม่อย่างนั้น เขาจะยังตัดเงินเราไปเรื่อย ๆ ตอนไปก็ให้เอาเอกสารพวกไซริวการ์ด my number บัตรประกันสุขภาพไปด้วยนะคะ

แพ็คกระเป๋า กลับบ้าน
ตอนนี้ เรากลับถึงไทยแล้ว กระเป๋าที่เรายกกลับมาก็ประมาณ 30 กก. ตามลิมิตของการบินไทยพอดีเลยล่ะ เราไม่ได้ยกกระเป๋าไปสนามบินเองนะ แต่ว่าฝากแมวดำให้เอาไปส่งสนามบินให้ (เอาไปฝากล่วงหน้า 2 วัน) ค่าใช้จ่ายขึ้นอยู่กับขนาด น้ำหนักของกระเป๋า (ของเราประมาณ 1700 เยน) แล้วเราก็เดินตัวปลิว ๆ ไปสนามบินกันได้เลยล่ะ

สำหรับคนที่กำลังเก็บของกลับบ้าน ก็สู้ ๆ กันนะคะ เหนื่อยหน่อยนึง มีอะไรถามมาได้เลยเนอะ 🙂

ความฟุ้งซ่าน ยามค่ำคืน

นาฬิกาหมุนวนมาครบชั่วโมงอีกครั้ง ครั้งนี้เข็มสั้นชี้ไปที่เลขสามของเช้าวันใหม่
ทุกคืน เรานอนมองนาฬิกาวนครบชั่วโมง นับไปนับมาส่วนใหญ่ก็นับได้หกครั้งบ้าง เจ็ดครั้งบ้าง
พออาทิตย์ขึ้น ร่างกายของเราก็พร้อมจะนอนพอดี

สำหรับวันนี้ ยังเหลืออีกสี่รอบสินะ . . .

มีหลายคนบอกว่า การนอนไม่หลับของเราเป็นผลมาจากความเครียด ความกังวล
ช่วงแรกของอาการนี้ เกิดขึ้นพร้อมกับช่วงปลายของการส่งเล่มวิทยานิพนธ์พอดี ใคร ๆ ก็เลยเดาว่า เพราะงานเขียนแน่ ๆ ที่ทำให้เรานอนไม่ได้

แต่เล่มก็ส่งไปแล้ว เรียนก็จบแล้ว

เลยลามไปว่า สงสัยเครียดเรื่องหางาน . . . เออ ยังหางานไม่ได้จริง ๆ ด้วย

สงสัยจะต้องนับเข็มนาฬิกาไปอีกหลายอาทิตย์ หรืออาจจะหลายเดือนเลยทีเดียว

บางคนใจดีช่วยหาวิธีแก้การนอนไม่ได้ เช่น การออกกำลังกายเบา ๆ ช่วงเย็น การดื่มนมอุ่นก่อนนอน หรือแม้กระทั่งให้ลองทานยานอนหลับ . . . เสียใจด้วย การนับเลขของเรานั้น แข็งแกร่งกว่ายานอนหลับ หรือการเล่นสกีหนัก ๆ เสียอีก ไม่ว่าทางไหนก็ไม่ช่วยให้ดีขึ้นเลย

มีวันนึง เรานอนคิดว่า เกิดอะไรขึ้นกับเรา ทำไมเราถึงนอนไม่หลับ ปรากฎว่า เราต้องตื่นขึ้นมานั่งลิสต์นู่นนี่ แทนที่จะนอน เราเลยนึกได้ว่า ความฟุ้งซ่านในใจ ความเพ้อเจ้อในสมองนี่แหละตัวดีเลย ที่ทำให้ร่างกายของเราตื่นตัวเวลาพยายามหลับตา

ความกังวล เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งต้องเข้างานสังคม แบบไปปาร์ตี้กับคนเป็นสิบ ยี่สิบ ร่างกายยิ่งเพลียแต่ไม่หลับไม่นอน เพราะเก็บเอาเรื่องที่ได้ยินมาบ้าง เรื่องที่พูดออกไปบ้าง มาคิด มาโทษ มาต่อว่าตัวเอง จนคล้ายจะสูญเสียความมั่นใจ สูญเสียความเป็นตัวเองไปทุกวัน ๆ

บวกกับความสัมพันธ์ที่มี ก็ไม่ค่อยราบรื่น อาจจะเพราะตัวเราเอง หรืออาจจะเพราะใครก็ตาม ก็เหมือนเราเอาทุกเรื่องมาปนกันไปหมด กลายเป็นเหมือน บ่ออะไรสักอย่างที่เอาทุกอย่างเทลงไป สุดท้ายก็มีแต่เละเทะ . . .เข็มสั้นนาฬิกาหมุนไปที่เลขสี่ เลขห้า . . . เมื่อไหร่ ความทรมานนี้จะจบลง ขอโกงเวลาได้ไหม ขอแอบหมุนเป็นเลขเจ็ดเลยได้หรือเปล่า . . . เมื่อไหร่ จะเลิกลงโทษกันด้วยความเชื่องช้าของเข็มวินาที เมื่อไหร่ จะเลิกลงโทษกันด้วยความฟุ้งซ่านในความสงบยามค่ำคืนเมื่อไหร่ จะเลิกลงโทษกัน . . .

เสี้ยวหนึ่งของอดีต

วันนี้เมื่อหนึ่งปีก่อน สองปีก่อน สามปีก่อน

วันนี้เมื่อตอนนั้น . . .

เทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้เรารำลึกถึงเรื่องราวเมื่อวันก่อนได้ง่ายขึ้น

บางครั้ง อาจจะง่ายเกินความจำเป็น

อดีตเป็นเรื่องสวยงาม เป็นบทเรียน เป็นฉากหนึ่งที่สอนให้เราเติบโต

แต่ . . .

บางเศษเสี้ยวที่ผ่านมาพบเจอ อาจทำให้หัวใจสั่นไหวได้ สักหน่อยหนึ่ง

วันนี้ เมื่อปีก่อน . . . เราคิดถึงคุณ เพราะอยู่กันไกลคนละขอบฟ้า

วันนี้ ของปีนี้ . . . เราก็ยังคิดถึง เพราะหัวใจเรายังไม่ได้เข้ามาใกล้กันสักนิดเดียว

เรากลับมาถามตัวเองว่า . . . เวลาที่ผ่านไปสามร้อยกว่าวันนั้น ไม่ได้ทำให้ความรู้สึกที่เรามีเปลี่ยนไปสักนิดเลยเหรอ เราไม่เติบโตขึ้น ไม่ได้แข็งแกร่งขึ้นสักนิดเลยเหรอ

ทำไมเวลาทำให้เศษเสี้ยวความคิดถึงเหล่านั้น ยังคงหล่อเลี้ยงหัวใจเราอยู่ ไม่ไปไหน

ทำไมไม่ว่าจะมีคนผ่านเข้ามามากมายสักแค่ไหน เราก็ยังมีสักเสี้ยววินาทีที่นึกถึงกอดอุ่นอุ่นของคุณ

วันนี้ ปีหน้า . . . เราจะเปิดมาเจอว่า เมื่อสองปีก่อน เราคิดถึงคุณ เพราะอยู่ไกลกันคนละขอบฟ้า

แม้ว่าปีหน้า เราจะอยู่ใกล้กันแค่เอื้อมมือ แต่ความรู้สึกของเรานั้น คงจะไกลคนละขอบฟ้าอยู่ดี

ความรู้สึกที่ไม่มีโอกาสได้มาบรรจบกัน . . .

“ทำไมมนุษย์เรา กอดตัวเองแล้วไม่อุ่นนะ”

ชีวิตนักเรียนทุน ADB – JSP : เทอมแรก (ตอนที่ 6)

ช่วงก่อนหน้านี้กุ๊กยุ่ง ๆ หายไปนานหลายเดือนเลยเนอะ

กุ๊กเพิ่งเปิดเทอม Fall มาได้อาทิตย์นิด ๆ ตอนนี้เริ่มมีลิสต์หนังสือให้อ่านบ้างแล้ว ก็อ่านเรื่อย ๆ สลับกับขี้เกียจบ่อย ๆ เพราะญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ทำให้อากาศเย็นลงนิดหน่อยล่ะ

ช่วงปลายเทอมที่แล้ว กุ๊กปั่นงานติดกันหลายวัน เพราะตอนต้นเทอมทำเป็นอึดลงเรียนไป 9 วิชา ช่วงปลายเทอมเลยอดนอนกันสนุกสนาน พอจบเทอม ก็ต่อด้วย Intensive course 2 ตัว ไป camp และนี่เพิ่งกลับจากฟิลิปปินส์สด ๆ ร้อน ๆ เลยล่ะ

Term paper ที่กุ๊กทำนั้น มีตั้งแต่ไม่เกิน 5 หน้าไปจนถึงอย่างน้อย  10-15  หน้า และหัวข้อก็หลากหลายจนบางทีก็สงสัยว่าตัวเองเขียนไปได้ยังไง ได้คอมเม้นจากเซนเซย์ว่าตรงไหนดี ตรงไหนต้องแก้ไข ส่วนใหญ่เรามีปัญหาเรื่องการเขียนประโยคภาษาอังกฤษที่ยาวจนเกินไป หรือจะบอกว่าเวิ่นเว้อก็คงไม่ผิด 555

เราเรียน Intensive course  2 วิชา วิชาแรกเป็น Theory of NGOs มีโอกาสได้ไปพูดคุยกับคนในท้องถิ่นที่ประสบปัญหามลพิษทางอากาศและกลุ่ม NGO ที่เข้ามามีบทบาทที่เมือง Yokkaichi จังหวัด Mie

DSC_3007.jpg

Yokkaichi ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศเพราะโรงงานที่มาเปิดในพื้นที่ไม่ได้มาตรฐานในเรื่องการจัดการฝุ่นละอองที่เกิดจากโรงงาน ตัวโรงงานเองก็อยู่ใกล้กับตัวเมืองมาก ๆ แบบตั้งอยู่ข้างโรงเรียนประถมเลย ทำให้เด็ก ๆ และผู้สูงอายุเริ่มหายใจไม่ได้ สิ่งที่น่าสนใจสำหรับพื้นที่นี้คือ คนในพื้นที่เองสนับสนับสนุนให้มีโรงงาน ทั้ง ๆ ที่ได้รับผลกระทบเพราะอยากมีงานทำ จนสุดท้ายมีกลุ่ม NGO เข้ามาเจรจาและ สุดท้ายโรงงานเหล่านั้นต้องปรับปรุงระบบการจัดการมลพิษทางอากาศ

อีกตัวนึงเป็นวิชา Public policy เรายกให้เป็นวิชาที่ไม่ชอบที่สุดในชีวิตเลยล่ะ อาจจะเพราะตัวเราเองไม่ค่อยมีหัวทาง policy พอมาเจอทฤษฏีด้านนี้หนัก ๆ แล้วไปไม่เป็นเลย ตอนเขียน term paper ก็ซัฟเฟอร์พอสมควร แต่อาจารย์ที่สอนวิชานี้ นำเข้าจาก Bath เลย ทำให้เรียนไปก็ฟินกับสำเนียงอาจารย์ไป เพราะปกติเจอแต่สำเนียงญี่ปุ่นของเหล่าเซนเซย์

หลังจากจบคอร์สเราก็แอบไป Host family ที่กิฟุ เป็นครอบครัวที่น่ารักมาก ๆ เลยล่ะ

DSC_4205.JPG กิจกรรมหลักของเรา คือ ช่วยคุณแม่ทำอาหารและก็เลี้ยงน้อง ๆ ทำให้กุ๊กได้เรียนวิธีทำอาหารญี่ปุ่นหลายอย่างเลยล่ะ แถมยังได้ลองชิมอาหารญี่ปุ่นใหม่ ๆ ที่ปกติแล้วไม่มีโอกาสได้ชิมอีกด้วย ทีสนุกที่สุด คือ ได้คุยกับเด็ก ๆ เป็นภาษาญี่ปุ่น แน่นอนว่า เราพูดไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ บางนี้เด็ก ๆ ก็หัวเราะที่เราพูดไม่รู้เรื่อง 555

จากนั้นเราไปออกค่ายที่นางาโน่อีก 5 วัน เป็นค่ายภาษาอังกฤษที่ทุกคนพูดภาษาญี่ปุ่น งงไหมล่ะ 555 เราเป็นคนเดียวในค่ายที่พูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ ค่ายนี้เลยกลายเป็นค่ายฝึกภาษาญี่ปุ่น่ของเราไปโดยปริยาย

DSC_4460.JPG

นางาโน่สวยมาก ออนเซนดี๊ดี อากาศสดชื่น และอาหารก็อร่อย เป็นสี่ห้าวันที่เราค่อนข้างผ่อนคลาย และได้ฝึกภาษาญี่ปุ่นเยอะมาก ๆ เลยล่ะ (แต่ส่วนใหญ่เป็นภาษาที่ค่อนข้างไม่สุภาพสักเท่าไหร่ แง้)

 

Oversea Fieldwork  

DSC_4590.jpg

กุ๊กเพิ่งกลับจากฟิลิปปินส์สด ๆ ร้อน ๆ งานวิจัยที่ได้มาจากที่นั่นก็สด ๆ ร้อน ๆ เหมือนกัน

เราไปเมือง Rizal, Laguna กับโครงการ Oversea Fieldwork ของคณะ เป็นเมืองที่อยู่ห่างจากมะนิลาแค่ 99 กิโลเมตร แต่เป็นเมืองที่จนเกือบที่สุดในฟิลิปปินส์ เราไปทำวิจัยเรื่อง Food security เป็นเวลา 2 อาทิตย์ถ้วน เป็นโอกาสที่ดีที่ได้ไปเรียนรู้ ไปอยู่ในสังคมใหม่ ๆ (ที่คล้าย ๆ เมืองไทย) ได้ฝึกพูดภาษาตากาล็อก ได้ไปสอนภาษาญี่ปุ่น (ที่เราเองก็ยังพูดไม่ค่อยได้) ได้คุยกับคนหลากหลายประเภท หลายชนชั้น ได้ไปดำน้ำ (ไม่ได้ดำน้ำแบบนี้มานานเป็นสิบปีแล้วละมั้ง) ทะเลฟิลิปปินส์สวยมาก ๆ ๆ ๆ ได้ทะเลาะกับเพื่อน ได้หัวเราะกับเพื่อน ได้ลองเบียร์ฟิลิปปินส์ (อร่อยมากกกกก) ได้เข้าโรงพยาบาลฟิลิปปินส์ ได้เต้น AKB48 กลางงาน fiesta ของเมืองด้วย 555

dsc_4605dsc_4808dsc_4700dsc_4696dsc_4695dsc_4644dsc_4643dsc_4610

จบกลับมาจากฟิลิปปินส์ก็เปืดเทอมเลย เทอมนี้เรามีโอกาสได้เริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่น (อย่างเป็นทางการ) และเริ่มเก็บวิชา minor เทอมนี้ลงเรียนน้อยกว่าเทอมที่แล้วนิดหน่อย แต่ตารางเรียนเทอมนี้ไม่ค่อยน่ารักสักเท่าไหร่ เรื่องรายวิชา เอาไว้มาเล่าให้ฟังอีกรอบเนอะ

เทอมนี้ ต้องตั้งใจเรื่อง Master Thesis ขึ้นมาอีกนิดหน่อย เพราะเทอมหน้าจะต้องเริ่มออกไป fieldwork แล้ว และตั้งใจว่าปีหน้าจะสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่นด้วย เลยมีสองสามเรื่องเป็นเป้าหมายของปีนี้ล่ะ

ไหน ๆ ใครมีเป้าหมายอะไรสำหรับอีกสามเดือนที่เหลือบ้างมาแชร์กันหน่อย ตอนนี้อยากได้แรงบันดาลใจใหม่ ๆ

ขอให้มีวันดี ๆ นะคะ 🙂

วันที่เราก้าวเข้าไปในเขต DMZ

End of separation, beginning of unification.

ปิดเทอมนี้ เราได้มาเที่ยวเกาหลีเป็นครั้งแรก และสิ่งนึงที่เราสนใจและอยากไปมากที่สุดในเกาหลี คือ Korean Demilitarized Zone (DMZ) เป็นพื้นที่ buffer zone ระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ เพื่อป้องกันการเผชิญหน้าทางทหารระหว่างสองเกาหลี

เขต DMZ มีขึ้นมาตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเกาหลีและมีการลงนามให้มีพื้นที่นี้ขึ้น กว้าง 2 กิโลเมตรจากทั้งสองฝั่งของเส้นขนานที่ 38 องศา (ที่เป็นเส้นชายแดนของสองประเทศ)

การเข้าเขตนี้ เราจะไปเองไม่ได้ ประมาณว่าต้องซื้อทัวร์เพื่อเข้าไปในพื้นที่ เพราะจะมีการตรวจสอบและมีข้อห้ามค่อนข้างเยอะ ทัวร์ที่ไป DMZ มีให้เลือกหลายแบบ ทั้งแบบครึ่งวัน เต็มวัน หรือว่าจะเข้าไปถึง Panmunjeom ที่เป็นจุดที่ใกล้เกาหลีเหนือมากมาก ราคาก็มีหลายราคาแล้วแต่ว่าจะเลือกกัน ส่วนเราจองทัวร์ครึ่งวัน เส้นทางของเราจะเป็น จากโรงแรมไป Imjingak Park – Freedom Bridge – The 3rd Infiltration Tunnel – Dora Observatory – Dorasan Station

ตอนเช้าเป็นคุณลุงเกาหลีมารับที่โรงแรมแต่เช้า และสิ่งที่ลุงเตือนว่าลืมไม่ได้เด็ดขาดคือ passport  จากนั้นก็ไปเปลี่ยนรถเป็นรถบัสคันใหญ่ สำหรับคนที่จะไปแนะนำให้นั่งฝั่งซ้ายของรถ เพราะเราจะสามารถมองเห็นเขตเกาหลีเหนือได้ตอนที่อยู่บน highway เราเดดินทางด้วยบัส ใช้เวลาประมาณ 40-50 นาที แล้วแต่ว่ารถติดมากน้อยแค่ไหน (สภาพการจราจรที่เกาหลีไม่ต่างจากบ้านเราเท่าไหร่เลยล่ะ ถ้าติดก็ติดมากมาย)

Imjingak Park – Freedom Bridge

DSC_3886.jpg

ที่ Imjingak Park เราจะได้เห็นทางรถไฟที่เคยเชื่อมเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ แต่ตอนนี้ทุกอย่างหยุดนิ่งไปหมด เหมือนมีเพียงความทรงจำที่เจ็บปวดเท่านั้นที่ยังเคลื่อนไหว ตรงใกล้ ๆ ทางออกไปสะพาน เราจะเจอหัวจักรรถไฟ (ไม่แน่ใจว่าเรียกอย่างนี้หรือเปล่า) ที่เคยผ่านกระสุนจากสงครามเกาหลีมาด้วยล่ะ

DSC_3881

DSC_3876

ที่ข้าง ๆ กับทางรถไฟนั้น เราจะเจอกับรั้วหนามที่มีผ้าผูกเอาไว้เต็มไปหมด ไกด์บอกว่าเวลาถึงวันสำคัญ คนที่มีญาติหรือเพื่อนอยู่ฝั่งเหนือ เขาจะมาขอพร หรืออวยพรโดยการเขียนบนผ้าผืนเล็ก ๆ แล้วผูกเอาไว้

DSC_3883

DSC_3888

หลังจากนั้นเราก็ได้ขึ้นรถบัสเพื่อต่อเข้าไปเขต DMZ ก่อนเข้าถึงในเขตทหาร จะมีทหารขึ้นมาตรวจ passport ไกด์บอกให้เราถอดแว่นตา

DSC_3891

แล้วเราก็เดินทางไป The 3rd Infiltration Tunnel เป็นอุโมงค์ที่เกาหลีเหนือขุดลอดใต้เขตเส้นพรมแดนเพื่อโจมตีเกาหลีใต้ช่วงสงครามเกาหลี จริง ๆ แล้วอุโมงค์มีทั้งหมด 4 อุโมงค์ (นับตามลำดับการค้นพบ) แต่อุโมงค์ที่เขาเปิดให้เข้าไปดูข้างในได้คือเจ้าอุโมงค์ที่สามนี่แหละ

ในอุโมงค์เขาไม่ให้เราพกสัมภาระเข้าไป ยกเว้นน้ำเปล่า และไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปด้วยล่ะ พอเราเข้าไปเขาจะให้เราใส่หมวกกันน็อค ซึ่งช่วยได้มากเลยล่ะ เพราะว่าทางข้างในค่อนข้างเตี้ยและแคบ เราเองก็หัวกระแทกอยู่หลายครั้ง ทางเดินจะเป็นทางเดินลาดในอุโมงค์ที่เกาหลีใต้สร้างขึ้นเพื่อลดระดับลงไปเจอกับอุโมงค์เดิมที่เกาหลีเหนือสร้างเอาไว้ ตรงทางลาดลงจะค่อนข้างยาวเพื่อให้เราปรับตัวกับระดับความกดอากาศที่เปลี่ยนไป ทางเดินตรงนี้ค่อนข้างลื่น เลยแนะนำให้เดินช้า ๆ กันเนอะ ใครมีโรคประจำตัวให้ระวังตัวนิดนึงเนอะว่าจะเดินไหวหรือเปล่า

พอเดินลงไปสุดถึงอุโมงค์ด้านล่าง เราได้เดินมุดในอุโมงค์ ที่แคบลง ชื้นขึ้น และเดินยากกว่าเดิม ตรงปลายสุดของอุโมงค์ (ประมาณ 300 เมตรจากจริง ๆ เป็นพันเมตร) จะเป็นเขตที่เขากั้นเอาไว้ เราแอบอยากเห็นปลายอีกฝั่งนึงที่อยู่ในเขตเกาหลีเหนือด้วยเลยล่ะเนี่ย ><)

ที่ตรงนี้มีของฝากที่น่าสนใจ คือ เหล้าจากเกาหลีเหนือ ช็อกโกแลตถั่วเหลือง (ที่ถั่วเหลืองนั้นปลูกในพื้นที่ DMZ ด้วยล่ะ)

Dora ObservatoryDSC_3918

ที่ตรงนี้ เราได้เห็นเขตแดนของเกาหลีเหนือด้วยล่ะ จะมีจุดที่บอกว่าตรงไหน คือ อะไรในฝั่งเกาหลีเหนือด้วยล่ะ ถ้าไปวันที่แดดดี ๆ จะเห็นอีกฝั่งนึงชัดมาก 🙂

หลังจากที่ดูวิวที่จุดนี้ ไกด์ชาวเกาหลีใต้บอกว่า การที่พวกเราเป็นถูกแบ่งออกเป็นสองประเทศนั้น เป็นเรื่องที่เจ็บปวด เป็นความเจ็บปวดที่คนประเทศอื่น ๆ จะไม่เข้าใจ และถึงแม้ว่าเขาจะไม่มีญาติหรือเพื่อนอยู่ที่เกาหลีเหนือ แต่เขาก็ยังรู้สึกเจ็บอยู่ข้างในเมื่อเขามาเห็นการแบ่งแยกที่เกิดขึ้น

DSC_3902DSC_3911DSC_3907

Dorasan Station

DSC_3920

เป็นจุดที่เราชอบที่สุดเลยล่ะ สถานีนี้เป็นสถานีรถไฟที่เกาหลีใต้สร้างไว้เพื่อรอเชื่อมกับเกาหลีเหนือ

DSC_3927DSC_3936DSC_3931DSC_3929

ที่นี่เขาสร้างที่อย่างไว้พร้อมรอเปิดเชื่อมกับเกาหลีเหนือแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสถานี เคาท์เตอร์ขายตั๋ว ตม. และถ้าได้เปิดเชื่อมกันจะสามารถสร้างทางรถไฟเชื่อมไปได้ถึงทรานไซบีเรียเลยล่ะ เราว่าที่ตรงนี้เป็นสัญลักษณ์ที่ดีนะ แต่การที่มีจุดนี้ก็หมายความว่า การที่สองเกาหลีจะกลับมารวมกันนั้นเป็นเพียงความฝันที่มีความเป็นไปได้น้อยมาก ๆ เลยล่ะ

มุมทั่ว ๆ ไปของ DMZ ให้ความรู้สึกเหมือนชนบทที่ทำเกษตรกรรม มีการปลูกพืชผัก ผลไม้ และโสม โดยไม่ใช้สารเคมี ไกด์บอกว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ปลอดสารเคมี และถูกอนุรักษ์ให้เป็นพื้นที่สะอาดของเกาหลีใต้เลยล่ะ แต่ทุกกิจกรรมอยู่ใต้การควบคุมของทหาร ไม่มีพลเรือนอยู่ในเขตนี้

DSC_3941

“Freedom is not free.”

เราหวังว่าวันนึง เรื่องราวระหว่างสองเกาหลีจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้นเนอะ 🙂