ชีวิตนักเรียนทุน ADB – JSP : ชีวิตในครึ่งปีแรก (ตอนที่ 5)

ตอนนี้ hashtag #ชีวิตในครึ่งปีแรก กำลังเป็นกระแสในทวิตเตอร์

นั่นสิ ชีวิตเราในครึ่งปีแรกของปีนี้เป็นยังไงกันนะ จะว่าสุขก็สุขไม่สุด จะว่าทุกข์ก็ไม่ได้โหดร้ายขนาดนั้น

เดือนมกราคม กีฬามหาวิทยาลัยที่อุบลราชธานี เป็นครั้งแรก ๆ ที่ได้ออกไปทำงานที่ต่างจังหวัด (นอกเขตปริมณฑล) เป็นเวลานาน ๆ เราหลงรักการทำงานที่ต่างจังหวัดเอาซะมาก ๆ ถึงแม้ว่าอุบลฯ จะมีรถติดบ้างในเวลาเช้า แต่เราก็ยังมีเวลาแวะทานอาหารเช้าได้ทุกวัน เป็นวิถีชีวิตที่ทำให้นึกย้อนไปถึงตอนเด็ก ๆ ที่ทุกเช้าคุณแม่จะพาไปทานจาโก้ย (ปาท่องโก๋) กับโอวัลตินร้อนก่อนไปโรงเรียน เป็นความรู้สึกแบบที่ทำให้เราพยายามจะหนีออกห่างจากเมืองหลวงมากขึ้น ๆ

จัดนิทรรศการภาพถ่ายครั้งแรกในชีวิต ส่วนใหญ่โครงการที่เรารับผิดชอบจะเป็นการสัมมนา หรือประชุม และเราเพิ่งมีโอกาสที่จะได้จัดนิทรรศการภาพถ่ายแรกในชีวิตก็เกิดขึ้นเมืองต้นปีที่ผ่านมานี่เอง เป็นอีกงานที่เราอยากเท และผลงานออกมาก็ไม่ดีเอาเสียเลย เป็นโครงการที่เราได้เรียนรู้ว่า ถ้าวันนึงได้ขึ้นเป็นผู้ใหญ่ขององค์กร ให้ลงมาดูการทำงานของลูกน้องบ้าง ไม่ควรนั่งอยู่แต่ในห้องประชุมแล้วคิดว่าตัวเองรู้ทุกอย่าง เพราะบางครั้ง เรื่องราวอาจจะไม่ได้ง่ายแบบที่คิด ๆ อยู่ก็ได้ เรานึกอยู่เสมอว่า ไม่อยากเป็นผู้บริหาร เราไม่เก่งเรื่องการจัดการคน ไม่ชอบใช้อำนาจสั่งคนอื่น ๆ และเราพยายามจะเป็นเพื่อนแม้กับน้องนิสิตที่เข้ามาติดต่องาน เราคิดว่าถ้าเราได้ใจเขามา เขาจะมาช่วยเราด้วยความเต็มใจ แต่ตอนนั้น เราลืมไปว่าเหรียญมีสองด้านเสมอ การที่พยายามไม่ออกคำสั่ง และขอความร่วมมือนั้น ทำให้เราล้มเหลวในการจัดการโครงการครั้งนี้ มองย้อนกลับไปทีไร ก็ไม่พอใจสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอ ๆ

เดือนกุมภาพันธ์ ทำงานเดือนสุดท้ายที่จุฬา ฯ

เดือนสุดท้ายของการทำงานมาพร้อมกับการเคลียร์โครงการเก่า ๆ และเตรียมโครงการใหม่ ๆ เราทุ่มเทเวลาให้กับงานเยอะกว่าทุกครั้ง เราเศร้ากับการจากลา แต่ยิ่งทำงานหนักขึ้น ยิ่งรู้ว่า งานนี้ไม่ใช่งานที่เรารัก

งานที่เรารัก งานที่เราไม่รัก งานที่เหมาะกับเรา งานที่ไม่เหมาะกับเรา เราควรคิดยังไงกับเรื่องงานกันนะ เรามองเห็นพี่ ๆ ที่ทำงานที่ทำงานเดิมมาเป็นสิบ ๆ ปี เราได้แต่ตั้งคำถามว่า พี่ ๆ เขารักงานที่เขาทำหรือเปล่า หรือแค่ทำเพราะว่าเป็นงานที่เหมาะกับเขา เดือนนี้เราได้คุยกับพี่ ๆ ที่ทำงานเยอะขึ้นเกี่ยวกับเรื่องการทำงาน และเพราะนี่เป็นครั้งแรก ๆ ที่เราเริ่มวางแผนเรื่องงานของเราในอนาคตอย่างจริงจัง เราเลยตั้งใจและพยายามเข้าใจเหตุผลของการมาทำงานของพี่ ๆ แต่ละคน มีพี่บางคนที่รักงานที่เขาทำอยู่มาก ถึงจะเหนื่อยจะเครียด แต่เขารู้สึกว่าการมาทำงานทำให้เขามีคุณค่า เขาไม่รู้ว่าอะไรทำให้เราเลือกมาทำงานที่จุฬา ฯ  แต่เขารักที่จะมา บางคนก็ต้องทำเพราะเลือกไม่ได้ บางคนก็ไม่ได้อยู่ในช่วงอายุที่จะลาออกได้อีกแล้ว บางคนก็กำลังหางานใหม่ แล้วเราล่ะ เราควรจะเลือกงานแบบไหน . . .

เดือนมีนาคม ว่างงานหนึ่งเดือน

เราตั้งใจลาออกจากงานหนึ่งเดือนก่อนการเดินทางไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่น ตอนนั้น แค่นึกว่าต้องจัดการกับเอกสารเยอะแยะมากมายก็คงหมดเวลาแล้ว แต่ในความเป็นจริง เรารู้สึกว่าเรามีเวลาเหลือมากเกินไปและสิ่งที่หมดก่อนเวลา คือ เงินที่อยู่ในกระเป๋า เราล้มเหลวในการจัดการเงินเดือนแม้กระทั่งเดือนสุดท้ายก่อนออกเดินทาง

เดือนนี้เองที่เราเริ่มเรียนภาษาใหม่ อย่างภาษาญี่ปุ่น แต่เพราะเรียนเอง และไม่ค่อยเก่งเรื่องภาษา เราเลยหมดเวลาหนึ่งเดือนไปกับฮิรางานะ และคำแนะนำตัวง่าย ๆ มาถึงที่ญี่ปุ่น สกิลที่มีอยู่แทบจะเท่ากับศูนย์ เรายอมแพ้ง่าย ๆ ให้กับเรื่องราวยาก ๆ ในชีวิตตั้งแต่เมื่อไหร่กันนะ

เดือนเมษายน เริ่มต้นชีวิตใหม่

การเดินทางมาเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นการเปลี่ยน chapter ของชีวิตเราเลยล่ะ เราได้มีโอกาสมาเรียนต่างประเทศครั้งแรก ได้ลองมาใช้ชีวิตคนเดียวครั้งแรก ได้อยู่ในสังคมที่ใช้ต่างภาษาเป็นครั้งแรก และมีอะไรอีกหลายอย่างที่เราได้ทำเป็นครั้งแรก ๆ ในชีวิต

วันที่เดินทางออกมาจากไทย เราแทบจะไม่มีความเศร้าปนอยู่ในหัวใจเลย แม้ว่าวันนั้น จะมีเรื่องแย่ ๆ เกิดขึ้นเยอะหลายอย่างก็ตาม

เดือนเมษายนที่วุ่นวายที่สุดในชีวิต ชีวิตเด็กหอที่สับสนกับการทิ้งขยะ การเข้าปฐมนิเทศนับครั้งไม่ถ้วน เดินเข้าร้านอาหารแต่ไม่เข้าใจว่าเขาคุยอะไรกับเรา คาบเรียนที่ทุกคนพูดแต่เราเงียบ ความกังวลเรื่องภาษาอังกฤษที่กวนหัวใจ สิ่งเหล่านี้ คือ ความรู้สึกที่พุ่งเข้ามาหาเราในช่วงเดือนแรก ตอนนั้น เรานึก ๆ ว่า โชคดีเหมือนกันนะ ที่เราไม่ได้ยืนอยู่ตรงนี้คนเดียว เรายังมีเพื่อน มีรุ่นพี่ที่คอยช่วยเหลือกันอยู่

แต่พอเวลาผ่านมาจนถึงตอนนี้ เราเริ่มกังวลกับตัวตน การสร้างความสัมพันธ์และที่ยากกว่านั้น คือ การรักษาความสัมพันธ์ที่มีอยู่ให้เป็นความสัมพันธ์ที่ดี

เดือนพฤษภาคม (เขาว่ากันว่าเป็น) ช่วงฮันนีมูน

เขาว่ากันว่า เดือนที่สองจะเป็นเดือนที่ดีที่สุดของการมาอยู่ต่างประเทศ เราจะ home sick น้อยลง และเราจะยังไม่กังวลกับเรื่อง culture shock หรืออะไรแบบนั้น

สำหรับเรา เดือนพฤษภาคมก็เป็นเดือนที่ดีที่สุดจริง ๆ เราเพิ่งเริ่มบทเรียนมาได้สักระยะ และยังไม่มีการบ้านหรือ term paper เยอะจนทำให้กังวล เราเริ่มไปเที่ยวเองได้เพราะชินกับการใช้รถไฟใต้ดินบ้างแล้ว เราอ่านฮิรางานะได้เร็วขึ้น (แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่คล่อง)

แต่สิ่งที่เริ่มเข้ามาและทำให้เราเศร้าลง ๆ คือ เรื่องความสับสนใจตัวตนของตัวเอง การวางตัว การเข้าสังคม และเราก็มีภาวะ culture shock

เดือนมิถุนายน ภาวะซึมเศร้า (แต่ไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้านะ)

เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไม่ดีบ้างหรือเปล่า ไม่ดีแบบเป็นที่น่ารังเกียจของสังคม เรารู้สึกแบบนั้น รู้สึกมากขึ้น ๆ ทุกวัน เราเป็นคนขี้รำคาญ มองโลกในแง่ลบ พูดจาห้วน ๆ  และไม่ได้เป็นคนใจดีสักเท่าไหร่ เวลาเจอใครทำตัวใจร้าย (ในความรู้สึกของเรา) เราจะมีทัศนคติติดลบกับเขาไปเลย เราเป็นคนที่ไม่ชอบการโดนเอาเปรียบ (เราว่าไม่มีใครชอบหรอก) บางคนอาจเป็นคนใจดีที่มองว่า ถ้าทำให้เขาสบายใจได้ก็ไม่เป็นไร แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่เรารู้สึก

มันแย่มากเลยหรือเปล่า ที่เราไม่ต้องการให้ใครมาเอาเปรียบ มันแย่มากเลยหรือเปล่าที่เราเป็นคนที่ยืนหยัดกับความเสมอภาคของเรากับคนอื่น ๆ พอมาถึงวันนึงที่เราต้องทำงานกลุ่มกับคนหลาย ๆ ประเทศ ทำให้เรารู้จักนิสัยของแต่ละคน แต่ละประเทศ ยิ่งทำให้เราเฟล เราไม่เข้าใจว่าทำไมเขาเหล่านั้นต้องเกี่ยงงานกันไปกันมา ทำไมไม่รับผิดชอบกับสิ่งที่ตัวเองเลือก เราคิดแต่ว่า ทำไมต้องใจร้ายกับเราแบบนี้

เราเป็นคนพูดจาห้วน ๆ เน้นไปทางตลกร้าย หลายครั้งที่เราพยายามให้ตลก แต่ไม่ตลกและมันยังทำให้เกิดความรู้สึกแย่ ๆ ไปอีก เราพยายามแก้ด้วยการพูดให้น้อยลง แต่พอพูดน้อยลงเราก็ยิ่งไม่อยากเข้าสังคม ไม่อยากยิ้ม ไม่อยากเจอใคร อยากอยู่นิ่ง ๆ เงียบ ๆ คนเดียว

สุดท้าย เรากลับมามองตัวเอง และเริ่มรังเกียจตัวเองที่เป็นคนแย่ ๆ เราสื่อสารไม่ได้ไม่ว่าจะภาษาไทยหรือภาษาอื่น ๆ ทักษะภาษาอังกฤษเราแย่ลงทุกวัน ๆ เรากังวลกับการพูดภาษาอังกฤษ จนเริ่มไม่พูดอะไรเป็นภาษาอังกฤษนอกจากเวลาประชุมงาน เราปิดใจให้ภาษาอังกฤษ ไม่อยากพูด ไม่อยากเขียน ไม่อยากสื่อสารอะไรทั้งนั้น

เราไม่อยากเข้าสังคม เรายิ้มน้อยลง เราไม่รู้ว่าเราควรจะรู้สึกอะไร เราไม่อยากไปประชุมงาน ไม่อยากเจอเพื่อนคนที่เอาเปรียบกัน ไม่อยากพบเจอคนที่มีแต่ข้ออ้างมาพรรณนา ไม่อยากเจอคนเห็นแก่ตัว ไม่อยากเจอคนมักง่าย ไม่อยากเจอใครทั้งนั้น เราเกลียดตัวเอง และเราก็เกลียดสังคมที่นี่ . . . เราจมอยู่กับความเศร้า . . .

เดือนนี้เราทำอะไรบ้าง . . . 

DSC_1107.jpg

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา มี Thai Festival in Nagoya เป็นเทศกาลที่คึกคักตลอดทั้งวันเลยล่ะ มีคนไทย คนญี่ปุ่น และคนชาติอื่น ๆ มาแวะเวียนชิมอาหารไทย ดูการแสดงไทยกับเยอะแยะเลย เป็นโอกาสดีที่ได้ชิมอาหารไทย ได้เจอคนไทย ได้พบกับสิ่งที่คุ้นเคย ถือเป็นต้นเดือนที่ดีเลยทีเดียว

DSC_1494.jpg

ปาร์ตี้หนักมาก.

เมื่อเดือนที่ผ่านมาเป็นวันเกิดเพื่อนชาวพม่า เขาอยากจัดงานวันเกิด มีปาร์ตี้เล็ก ๆ กัน จากนั้น ก็ไปต่อกันที่คาราโอเกะ เป็นครั้งแรก ๆ ที่เราต้องแบกเพื่อนเมา ๆ กลับหอตอนตีสี่ เป็นครั้งแรก ๆ อีกเหมือนกันที่เราได้ไปงานวันเกิดของเพื่อน เรารักการได้ถ่ายรูปในงานแบบนี้จัง มันทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าขึ้นมาอีกนิด แม้ว่าเราจะไม่ได้อยู่ในรูปนี้ก็ตาม . . .

 

ย้ายบ้าน

เราเพิ่งย้ายออกจากหอพักมหาวิทยาลัยเมื่อสิ้นเดือนมิถุนายน และตอนนี้กำลังจัดห้องใหม่อยู่ ห้องที่เรามาอยู่เป็นหอต่อจากพี่คนไทยที่เขากลับไทยไปเมื่อสิ้นเดือนที่แล้ว ห้องค่อนข้างเก่า ในห้องมีเครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์ค่อนข้างเยอะ สิ่งที่เกินความคาดหมายไปนิด คือ เราต้องทำความสะอาดห้องใหม่หมดเลย จนถึงตอนนี้ ยังไม่แน่ใจว่าจะต้องขยะชิ้นใหญ่ ๆ ไปทิ้งที่ไหนได้บ้าง ตั้งแต่ย้ายหอมาเป็นสองคืนแรก (ที่มาอยู่ญี่ปุ่น) ที่เรานอนไม่หลับ และถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ เราไม่รู้เหมือนกันว่า เราจะต้องทำยังไง

เมื่อวันแรกที่มาถึง เราเจอแมลงสาบตัวใหญ่อยู่ใต้ที่นอน (ขอบคุณพี่หนุยที่ช่วยจัดการให้) มุ้งลวดพัง (อันนี้ไม่รู้ว่ามันพังอยู่แล้วหรือว่าบริษัทแก๊สมาเปิดแล้วมันพัง 555) เรามองไปรอบ ๆ ห้องแล้วเราท้อ เราเหนื่อย . . .

ตรงนี้ ถ้าใครมีวิธีกำจัดแมลงสาบญี่ปุ่น (ตัวใหญ่น่ากลัว น่ารังเกียจ) ฝากแปะไว้ในคอมเม้นด้วยนะคะ เอาแบบทำปีละครั้งแล้วมันไม่หาเราอีกเลย คือ วิธีในเน็ตแบบบ้านแมลงสาบ หรือล่อให้มันมาตายรวม ๆ กัน เราไม่ไหวจริง ๆ เอาแค่วิธีที่มันไม่มาก็พอ ตอนนี้เราไม่กล้าทำความสะอาดครัวเลย เรากลัวจะเจอแมลงสาบมาก ฝากด้วยนะคะ

 

เราไม่รู้ว่า พรุ่งนี้จะเป็นยังไง เราอาจจะเศร้าลงกว่าเดิม หรือเราอาจยิ้มได้กว้างกว่าเดิม เรายังไม่รู้ว่าเราจะปรับตัวได้มากแค่ไหน แต่เราพยายามทุกวันเลย พยายามจะไม่เป็นภาระใคร พยายามจะไม่ทำตัวมักง่าย จะไม่เอาแต่สบาย จะต้องอยู่ให้ได้ แต่หลายครั้งที่เราเองก็อยากเดินไปศาลเจ้าใกล้ ๆ เพื่อจะขอให้โลกช่วยใจดีกับเรากว่านี้หน่อย นิดนึงก็ยังดี . . .

DSC_1611.jpg

ขอให้ช่วงครึ่งปีหลังเป็นช่วงชีวิตที่เข้มแข็งนะคะ

 

รูปภาพเดือนมิถุนายนค่ะ https://www.facebook.com/kooktfc/media_set?set=a.1317273168300374.1073741914.100000531102957&type=3

ชีวิตนักเรียนทุน ADB – JSP : เดือนที่สอง (ตอนที่ 4)

เดือนพฤษภาคมกำลังจะผ่านไปแล้วเนอะ เป็นเดือนที่น่ารักหรือเปล่าเอ่ย

ความกังวล

เมื่อช่วงต้นเดือน เราเจอปัญหาในการจัดการความรู้สึก ความกังวลของตัวเองอยู่พอสมควร เรื่องมีอยู่ว่า ตั้งแต่มาอยู่ที่นี่ เราได้พบเจอคนที่หลากหลายมาก ๆ ในคณะของเรามีนักเรียนมาจากเกือบทุกส่วนของโลก ทุกคนมีพื้นฐานที่ต่างกัน ความสามารถก็ต่างกัน สิ่งที่เรากังวลมาก ๆ คือ

เรื่องภาษา การใช้ชีวิตที่นี่ เราใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น และใช้ภาษาอังกฤษในประเด็นที่ลึกซึ้งมากขึ้น  และมีบางครั้งที่เรารู้สึกว่าการอธิบายความรู้สึกของตัวเองออกมาเป็นภาษาอังกฤษนั้นไม่ได้ตรงตามสิ่งที่เราคิดจริง ๆ สิ่งนั้นทำให้เรากลับมาต่อว่าตัวเองที่ไม่สามารถสื่อสาร ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างที่ควรจะเป็น นอกจากภาษาอังกฤษแล้ว เราก็พยายามเรียนภาษาญี่ปุ่นไปพร้อม ๆ กัน และนั่นก็ทำให้เรากังวลอีกว่า ทำไมเรามาอยู่ญี่ปุ่นสักพักแล้ว เรายังฟังภาษาญี่ปุ่นแทบจะไม่ได้เลย จนกลับมานั่งคิดว่า ภาษาเป็นเรื่องที่เราต้องใช้ให้คุ้นเคย และเราก็เพิ่งมาอยู่ในบริบทของสังคมที่ใช้ภาษาอังกฤษ และภาษาญี่ปุ่นแค่เดือนนิด ๆ ตอนนี้เลยตั้งใจว่า จะทำทุกอย่างให้ดีที่สุดเท่าทีจะทำได้ และถ้าเราพยายามมากพอ อีกสักพัก ภาษาของเราก็จะดีขึ้น ไม่มากก็น้อย

เรื่องเพื่อน เราเป็นคนที่เข้าสังคมไม่ค่อยเก่ง และเราไม่ค่อยชอบพบเจอคนเยอะ ๆ พร้อม ๆ กัน เราชอบที่จะอยู่คนเดียว ไปไหนมาไหนคนเดียว แต่พอมาอยู่ที่นี่ เรามีเพื่อนมากขึ้น เราก็กังวลว่าเราจะทำอะไรไม่ดีให้เขาไม่พอใจหรือเปล่า ด้วยความที่เป็นคนที่ชอบแกล้งคนนู้นคนนี้ (เพราะคิดว่า จะเป็นทางที่ง่ายที่สุดที่ทำให้เรากับเขาสนิทกัน) พักหลัง ๆ กลายเป็นกังวลว่า เขาจะไม่พอใจที่เราพูดแบบนั้นแบบนี้ไหม มีอยู่ช่วงนึงที่เรารู้สึกว่าที่ตรงนี้ไม่ใช่ที่ที่เราควรจะอยู่ ไม่ใช่ในสังคมแบบนี้ หรือบางทีเราอาจจะไม่เหมาะกับสังคมเลยก็ได้

เรื่อง thesis ช่วงเดือนนี้ เราเริ่มทำงานวิจัยบ้างแล้ว ตอนนี้เรามีงานวิจัยอยู่ในมือประมาณ 5 โครงการ เราใช้เวลากับงานวิจัยอื่น ๆ ไปจนไม่มีเวลาคิด thesis ของตัวเอง ระบบการทำ thesis ของที่นี่ คือ จะแบ่งนักศึกษาไปตามเซนเซย์ที่มีความถนัดด้านนั้น ๆ แล้วจะมีคาบสัมมนาทุกอาทิตย์เพื่อให้เซนเซย์ได้ช่วยในการทำ thesis เราอยู่ในความดูแลของ Nishikawa-sensei วิธีสอน คือ ทุกระดับชั้นจากปริญญาโทปี 1 ถึงปริญญาเอกปี 3 จะมีการนำเสนองานวิจัยทุกอาทิตย์ เริ่มจากระดับสูงสุดไล่ลงมาเรื่อย ๆ และให้เพื่อน ๆ ในห้องถามและเสนอความคิดเห็น ก่อนที่เซนเซย์จะสรุปและเสนอแนะเป็นคนสุดท้าย คำถามในห้องดุเด็ดเผ็ดมัน น่ากลัวด้วย น่าสนุกด้วย ยังไงก็ภาวนาให้ราบรื่นละกันเนอะ

 

เพื่อนใหม่

เมื่อช่วงต้นเดือน เราได้ไปกินบาร์บีคิวกับเพื่อน ๆ คนไทยในนาโกย่า มากันประมาณ 40 คน เป็นบาร์บีคิวแบบเต็มรูปแบบครั้งแรกของเราเลยล่ะ ช่วงนี้อากาศที่ญี่ปุ่นเริ่มร้อนขึ้นแล้ว แต่คนญี่ปุ่นก็ยังออกมาปิกนิคกันทุกวันหยุด อากาศอุ่น ๆ ลมพัดสบาย ๆ อยากให้ลองมาปิกนิคด้วยกันจังเลยเนอะ 🙂

DSC_0861.jpg

อาทิตย์ที่ผ่านมา มีเพื่อนที่เรารู้จักในทวิตเตอร์มาเที่ยวที่นาโกย่า เลยได้พาไปเยี่ยม Nagoya Castle สวน Noritake และไปเดินเล่นที่ Oasis 21 ขอบคุณที่พกอาหารไทยมาฝากนะ ><)

DSC_0933DSC_0950DSC_0991

จักรยาน

S__16195586

เราเพิ่งได้จักรยานคันใหม่มา ชื่อว่า Ame แปลว่า ฝน เป็นจักรยาน Dahon Broadwalk D7 2016 (International Model) ตอนแรกเราตั้งใจจะซื้อสีขาวสลับชมพู แต่สีนั้นหมดวันที่เราไปซื้อพอดี แบบมีคนโฉบไปต่อหน้าต่อตา เลยได้เจ้าคันนี้มาแทน เราเจอเจ้าคันนี้ที่ Bic Camera อยู่ตรง Nagoya Station ราคาอยู่ที่เกือบ ๆ หกหมื่นเยน ถ้านักท่องเที่ยวมาซื้อก็ได้ราคานี้เลย แต่เรามีวีซ่าญี่ปุ่นเลยโดนบวกภาษีอีกจบที่ หกหมื่นนิด ๆ และซื้ออุปกรณ์ไปอีกประมาณหมื่นเยน (ยูล็อก/ไฟหน้า/ไฟท้าย/ไมล์) ที่ร้านเขาจะเช็คทุกอย่างและเซทจักรยานให้ทั้งหมด ต้องทิ้งจักรยานไว้ที่ร้านประมาณ ชั่วโมงครึ่ง พอกลับมาก็ได้เจ้าคันนี้แบบนี้เลย อ่อ จักรยานของเราจะปั่นในญี่ปุ่น เลยต้องเสียค่าลงทะเบียนป้ายทะเบียนจักรยานอีก 500 เยน ถ้าไม่มีป้ายอันนี้ ตำรวจจะคิดว่าขโมยจักรยานมา และอาจจะโดนจับได้เลยนะ เสร็จสรรพเรียบร้อย วันต่อมาเราก็ไปลองปั่นแถว ๆ Higashiyama Koen

เราพบว่า การปั่นจักรยานที่ญี่ปุ่นสนุกดี แต่ก็ไม่ได้ปั่นง่ายเท่าที่เราคิดไว้ตอนแรก ขอเกริ่นนิดนึงว่า ที่ญี่ปุ่นมีกฎหมายเรื่องการปั่นจักรยานที่ค่อนข้างเคร่งครัด เช่น เราต้องปั่นบนทางเดิน หรือทางที่กำหนดไว้ให้เท่านั้น การปั่นข้ามถนน ก็ต้องข้ามทางม้าลาย (แบบคนเดินข้าม) นั่นแปลว่า เราต้องระมัดระวังคนเดินถนน และต้องดูสัญญาณไฟจราจรตามแบบคนเดิน สิ่งที่เป็นปัญหา คือ ที่ญี่ปุ่นมีเนินเยอะมาก ๆ และเป็นเนินที่ค่อนข้างสูง ตอนปั่นขึ้นก็เหนื่อย ตอนปล่อยไหลลงก็ต้องระวังคน กลายเป็นว่าเราปั่นได้ช้ามาก ๆ (แต่หลาย ๆ ครั้ง เราก็ลงไปปั่นบนไล่ทางนะ แบบปั่นตามหลังคุณลุงคนญี่ปุ่นอะไรแบบนี้) และที่ถนนญี่ปุ่นมีไฟจราจรเยอะมาก แปลว่าเราต้องเบรกทุก ๆ แยก ทุก ๆ ไฟแดง บางครั้งไฟแดงอยู่ห่างกันแค่ 50 เมตร เราก็ติดมันสองไฟแดงเลย 555

แต่กฎจราจรก็เอื้อให้การเดินทางปลอดภัยขึ้น และเรารู้สึกได้ว่า เราไม่ต้องกังวลว่าจะโดนรถยนต์หรือรถเมล์เกี่ยวระหว่างปั่นจักรยาน ปั่นได้อย่างสบายใจเลย

ที่นาโกย่า มีคนขโมยจักรยานกันเยอะ จักรยานพับก็เป็นอีกแบบที่นิยม ที่หอพักเตือนให้เราซื้อที่ล็อกจักรยานเพิ่มอีกอันนึง ที่นี่จักรยานแพง ๆ ล็อกสองสามอันทุกคันเลย อีกหน่อยถ้าเราย้ายหอ สงสัยต้องพับเจ้าตัวเล็กเก็บเข้าห้องแล้วล่ะ 🙂

เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ 

เป็นนักเรียนทุน ไม่ใช่ว่าไม่ต้องกังวลเรื่องเงินนะ เราเองก็มีปัญหาในการจัดการเงินให้เพียงพอในแต่ละเดือนอยู่เหมือนกัน เมื่อเดือนที่แล้ว เราต้องยืมเงินในเก็บตัวเองมาใช้ ตอนนี้ก็น่าจะไม่ต่างกันสักเท่าไหร่ ดูจากรายรับรายจ่ายของเราแล้ว เงินส่วนใหญ่เราหมดไปกับเรื่องกิน (กินแล้วก็อ้วน อ้วนแล้วก็อ้วน) และการเดินทาง ตั้งใจว่าอีกหน่อย จะปั่นจักรยานแทนนั่งรถไฟใต้ดิน จะได้ประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้บ้าง

เราเองกำลังจะต้องย้ายหอ เลยมีค่าใช้จ่ายพวก เงินประกัน บางส่วนที่เพิ่มขึ้นมา ทำให้เราเองต้องคำนวนเงินใหม่ทุกวัน พอย้ายหอเสร็จอะไร ๆ ก็น่าจะลงตัวกว่านี้เนอะ

เรื่องทั่ว ๆ ไป

  • เดือนนี้มีวันเด็กผู้ชาย / วันเด็ก บรรยากาศครึกครื้นดี เด็ก ๆ เต็มรถไฟใต้ดิน มีแต่รอยยิ้มและเสียงหัวเราะDSC_0793
  • หัดเล่นเทนนิส สนุกและยากไปพร้อม ๆ กัน 🙂
  • เพิ่งสมัครบัตรเครดิตของของญี่ปุ่นไป ปกติแล้วนักเรียนต่างชาติที่มาเรียนที่ญี่ปุ่นจะสมัครบัตรเครดิตยาก เพราะไม่มีรายได้ที่ญี่ปุ่น แต่ของเราเป็นกรณีพิเศษที่มหาวิทยาลัยร่วมกับธนาคารเขาเปิดโอกาสให้ นักเรียนทุนสามารถสมัครได้ โดยที่สมาวิทยาลัยเตรียมเอกสารว่าเราได้ทุนจาก ADB ไว้ให้ และจัดวันสมัครให้เรามาพร้อม ๆ กัน เพราะแบบฟอร์มเป็นภาษาญี่ปุ่นหมดเลย ทุนของเราดูแลเราดีมาก ๆ ดีจนบางทีก็กลัวว่าตัวเองจะทำอะไรไม่เป็นเหมือนกัน
  • เราไม่แน่ใจว่าเคยบอกไปหรือยังว่า เรามีติวเตอร์เป็นของตัวเองด้วยล่ะ ที่คณะเราเขาจัดให้นักเรียนต่างชาติปริญญาโทปี 1 มีติวเตอร์เป็นของตัวเองเป็นเวลา 1 ปี ติวเตอร์ของเราเป็นคนญี่ปุ่น ชื่อว่า Manami เขาเรียนคนละโปรแกรมกับเรา เขาช่วยเราเรื่องการติดต่อกับคนญี่ปุ่น เรื่องการย้ายบ้าน สัญญาเช่าบ้าน โทรหาบริษัทไฟฟ้า บริษัทแก๊สได้เยอะเลยทีเดียวล่ะ

 

หมดแล้วสำหรับเดือนนี้ ขอตัวไปปั่นการบ้านต่อแล้วนะคะ เจอกันเดือนหน้าเนอะ

ปล. ภาพของเดือนนี้  https://www.facebook.com/kooktfc/media_set?set=a.1296061647088193.1073741913.100000531102957&type=3&pnref=story

 

ชีวิตนักเรียนทุน ADB – JSP : ซากุระ เปิดเทอม และความกังวล (ตอนที่ 3)

DSC_0160-2

こんばんは~

สวัสดีอีกครั้งนะคะ ตอนนี้อยู่ที่นาโกย่ามาเกือบหนึ่งเดือนแล้วค่ะ มีเรื่องมาเล่าให้ฟังด้วยล่ะ :)

เราออกเดินทางจากประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2559 เวลาเที่ยงคืนนิด ๆ และมาถึงสนามบิน Chubu ประมาณ 7.30 น. เวลาญี่ปุ่น วันที่เราเดินทางมานั้นฝนตก ลมแรงและเมฆค่อนข้างเยอะ อุณหภูมิประมาณ 12 องศา (นาโกย่าเป็นเมืองที่ลมแรงและมีเมฆมาก) จากเครื่องบินเราต้องต่อรถของสนามบินเพื่อไป terminal ต่อจากนั้นเราก็เดินไป ตม. เจ้าหน้าที่ตม. ถามเราเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า เป็นมาเป็นนักเรียนใช่มั้ย เราก็บอกว่าใช่ แล้วขอให้เขาพูดภาษาอังกฤษ เขาถามอีกว่าจะทำงานพิเศษหรือเปล่า ตอนนั้นเราบอกไปว่า ไม่แน่ใจ แต่เขาก็บอกว่าเดี๋ยวจะทำเผื่อไว้ให้เลยละกัน จากนั้นก็ได้ Resident Card มาพร้อมหนังสือเดินทาง

จากตรงนั้น เราใช้เวลาอีกเกือบครึ่งชั่วโมงเพื่อรอกระเป๋า ทางสนามบินแจ้งว่าจะมีการตรวจกระเป๋าอย่างรัดกุมมากกว่าเดิม เพราะกำลังจะมีการจัดประชุมผู้นำอะไรสักอย่าง พอได้กระเป๋า ผ่านศุลกากรเรียบร้อยแล้ว ก็ได้เจอกับ tutor ที่จะมารับเรา เป็นคนญี่ปุ่นคนนึง และเป็นคนเวียดนามคนนึง ตอนนั้น มีนักเรียนทุนเดียวกันที่มาจากเวียดนามมารออยู่ก่อนแล้ว จากนั้น เราก็เดินทางไปยังที่พัก

ที่พักของเรา เป็นหอพักของมหาวิทยาลัย ชื่อว่า International Resident Yamate อยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยเท่าไหร่ ถ้านั่งรถไฟใต้ดิน ก็สถานีเดียว แต่ส่วนใหญ่แล้วเราเดินไปเรียน ก็ใช้เวลาประมาณสิบนาที

เรามาถึงหอพักกันอย่างทุลักทุเลเพราะมีกระเป๋าใบใหญ่กันมาหลายใบ และต้องเดินขึ้นเขาลงเขากันหลายรอบ กว่าจะถึงก็ทำเอาหอบอยู่เหมือนกัน

 

12923330_1275877525773272_7717508027914906205_n
คนซ้ายเป็นเพื่อนชาวเวียดนาม และคนขวาเป็นพี่คนไทยที่ได้ทุนเดียวกัน

 

วันที่เรามาถึงกันนั้น เป็นวันที่วุ่นวายพอสมควรเลยล่ะ เพราะน้อง ๆ ระดับปริญญาตรีก็ย้ายเข้าหอกันในวันนั้น มีรถบริการย้ายบ้านจอดกันเต็มไปหมด หลังจากถึงที่พักก็ลงทะเบียนเข้าหอพัก ส่งเอกสารต่าง ๆ มีอบรมสั้น ๆ เรื่องการแยกขยะ (เป็นเรื่องที่ต่างจากบ้านเรามากจนทำให้งง แต่ตอนนี้ก็เริ่มชินแล้วล่ะ) การใช้ห้องทิ้งขยะ การใช้ตู้จดหมาย และอธิบายการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ในห้อง

หอพัก

9575_1275877939106564_2589299605550527275_n

หอพักที่เราเข้าอยู่เป็นหอพักที่ค่อนข้างใหม่ (แต่ไม่ได้ใหม่ที่สุดของมหาวิทยาลัยหรอกนะ) มีสามชั้น ชั้นล่างสุดเป็นของนักศึกษาผู้ชาย ส่วนอีกสองชั้นเป็นของผู้หญิง ห้องที่เราพักอยู่มีขนาด 14 ตร.ม. มีเตียง แอร์/ฮีทเตอร์ ตู้เก็บของ ห้องน้ำ ครัวเล็ก ๆ ตู้เย็นและไมโครเวฟให้

DSC_0145

ทางหอพักเตรียมเครื่องนอนไว้ให้อย่างดี มี futon หมอน และผ้านวมอีกสองผืน สำหรับเราแล้วหมอนที่นี่เล็กไปหน่อย และเห็นหลาย ๆ คน ต้องไปหาซื้อหมอนเพิ่มกันคนละใบสองใบ

DSC_0147

ห้องน้ำมีทุกอย่างพร้อม มีน้ำอุ่น น้ำเย็นให้เลือกใช้ แต่ไม่มีสายฉีด ต่อมาเราก็เอาขวดน้ำวางในห้องน้ำ ไว้ใช้แทนสายฉีด

DSC_0148

ในห้องที่ญี่ปุ่นจะมีเครื่องดูดความชื้นออกจากห้องสองตัว ตัวนึงอยู่ในห้องน้ำ อีกตัวนึงอยู่ในห้องใหญ่ ปกติแล้วเราจะเปิดเครื่องดูดความชื้นอยู่ในระดับปกติ แต่พออาบน้ำเสร็จต้องปรับเป็นระดับสูงสักพัก เพื่อไล่อากาศออกจากห้อง

เอกสาร

  1. เอกสารที่ Ward Office เพื่อย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้าน สมัครเข้าประกันสุขภาพของรัฐบาลญี่ปุ่น และทำ pention exemption ตรงนี้เราบอกรายละเอียดอะไรไม่ได้มากเท่าไหร่ เพราะ Tajima-san (เจ้าหน้าที่ที่ดูแลทุนการศึกษาของเรา) เขาเป็นคนเตรียมเอกสารให้ทั้งหมด เราแค่เอาไปยื่นที่ Ward (ของเราคือ Showa Ward)
  2. เปิดบัญชีธนาคาร เราไปเปิด JP Bank และเพิ่งเปิด UFJ ไปเมื่ออาทิตย์ก่อน แนะนำว่าถ้าจะไปเปิดบัญชีให้พาเพื่อนที่พูดภาษาญี่ปุ่นไปด้วยจะดีกว่า เพราะทุกอย่างที่นี่มีภาษาญี่ปุ่นเป็นหลักและเป็นภาษาอังกฤษนิดเดียว
  3. สิ่งที่สำคัญอีกอย่างนึง คือ บัตรนักเรียน เป็นบัตรที่ต้องมีคู่กับ Resident Card เสมอ ของมหาวิทยาลัยเรา เขาให้ไปรับวันเปิดเทอม และการลงทะเบียนสำหรับนักเรียนใหม่จะขยายเวลาให้เราได้ลองเรียนวิชาต่าง ๆ เป็นเวลา 1อาทิตย์ก่อนตัดสินใจว่าจะเรียนวิชาไหนบ้าง

อินเตอร์เน็ต

เรื่องที่ชวนปวดหัวที่สุดในเดือนแรก คือ เรื่องโทรศัพท์ ตอนแรก เราตั้งใจว่าจะมาซื้อไอโฟนใหม่ที่ญี่ปุ่น แต่เรื่องราวไม่ได้ง่ายแบบที่เราคิด เพราะเอกสารสำหรับการเปิดเบอร์ใหม่ หรือซื้อซิมแบบรายเดือน คือ Resident Card บัญชีธนาคารญี่ปุ่น และบัตรเครดิต ซึ่งเราเองไม่มีบัตรเครดิตทำให้เราจะซื้อไอโฟนแบบแบ่งจ่ายค่าเครื่องไปกับ contract 24 เดือนไม่ได้ สุดท้ายแล้วเราเพิ่งได้ pocket wifi มาจาก au มาเมื่อสองสัปดาห์ก่อน (ค่าเครื่อง 28,080 เยน และรายเดือนประมาณ 5,000 เยน)

ในห้องเรียน

สัปดาห์แรกของการเรียนการสอน เราไปลองเรียนทั้งหมด 15 วิชา และตัดสินใจลงทะเบียนเรียนเพียง 8 วิชา ระบบการเรียนที่ญี่ปุ่น ไม่ค่อยเข้มงวดเรื่องวิชาที่เราจะลงเรียนสักเท่าไหร่ ที่บังคับจริง ๆ มีวิชาทั่วไปสองวิชา วิชาบังคับเอกสองวิชา และการเข้าสัมมนากับ advisor

การเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ อาจารย์ส่วนใหญ่เป็นอาจารย์ญี่ปุ่น บางคนก็พูดภาษาอังกฤษเก่ง บางคนก็พูดแล้วฟังไม่รู้เรื่องเลย ในห้องเรียนจะเน้นการพูดคุย แสดงความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ มีบางคาบจัดให้เป็นเวทีดีเบทกันสนุกสนาน ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่เราไม่ค่อยถนัดสักเท่าไหร่

เราพบปัญหาเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษ ทั้งเรื่องการฟังภาษาอังกฤษสำเนียงญี่ปุ่น และการสื่อสารโดยการเขียนหรือการพูด เพราะภาษาอังกฤษของเราอยู่ในระดับกลาง ๆ ทำให้ในบางคาบ (เช่น ปรัชญาการเมือง) เราไม่สามารถสื่อสารสิ่งที่ค่อนข้างซับซ้อนเป็นนามธรรมได้ ตอนนี้ก็พยายามจำวิธีการสื่อสารและการพูดจากคนที่เป็น Native Speaker อยู่ เราเองก็ยืมหนังสือเรื่องการเขียนภาษาอังกฤษมาลองเปิดอ่านดูบ้าง

ในแต่ละคาบ จะมีหนังสือที่แนะนำ (บังคับ) ให้ไปอ่านก่อนเรียน ตอนแรกเรารู้สึกว่า เป็นเรื่องง่าย ๆ ที่เราจะอ่านหนังสือจบก่อนเข้าเรียน แต่ในความเป็นจริงแล้ว แต่ละคาบเรามีหนังสือที่ต้องอ่านเยอะมาก (มาก มาก มาก มาก) และสิ่งที่มากกว่าปริมาณหนังสือ คือ ความยากของหนังสือแต่ละเล่ม หนังสือบางเล่มอาจารย์สั่งให้อ่านเพื่อจะมาบอกในห้องว่า ตั้งใจจะให้อ่านเล่มที่ยากที่สุด แล้วก็สอนด้วยเนื้อหาที่เข้าใจง่าย ๆ

โดยรวม ๆ แล้ว เราชอบวิชาที่ลงทะเบียนเกือบทุกวิชา ยิ่งเป็นวิชาเอกที่เราตั้งใจมาเรียนแล้วยิ่งสนุก เพราะเพื่อนร่วมห้องมาจากหลายที่ หลายวัฒนธรรม ทำให้เราได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้เจอกับปัญหาที่คคนในพื้นที่ยกมาดีเบทกับทฤษฎีที่อาจารย์สอน

ภาษาญี่ปุ่น

เราฝึกอ่านตัวฮิรางานะมาแล้วบ้าง แต่ในชีวิตจริง สิ่งที่รู้มาทั้งหมดแทบจะเท่ากับศูนย์ เราไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่นเลย เราไปลงเรียนภาษาญี่ปุ่นที่อีกเขตนึง ซึ่งเขาก็เริ่มเรียนจากฮิรางานะใหม่ ตอนนี้ก็อาศัยอ่านหนังสือเองบ้าง ถามเพื่อนบ้าง ตอนนี้ก็พอจะฟังประโยคง่าย ๆ ออกบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่พอสำหรับการใช้ชีวิตประจำวัน

แผ่นดินไหว 

เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา มีแผ่นดินไหวที่คุมาโมโตะ และทางกรมอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่นออกเตือนให้ระวังเพราะศูนย์กลางของแผ่นดินไหวมีการเคลื่อนตัวมาทางตะวันออกเฉียงเหนือ รุ่นพี่ที่มหาวิทยาลัยให้โหลดแอป Yurikuru ไว้เพราะเจ้าแอปนี้จะเตือนเมื่อมีสัญญาณจะเกิดแผ่นดินไหว บางครั้งก็เตือนว่ากำลังจะเกิดในอีกไม่กี่นาทีนี้ (https://itunes.apple.com/jp/app/yurekurukoru/id398954883?mt=8) พอโหลดเจ้าแอปปลาดุกนี้มา (หน้าตาแอปเป็นรูปคล้าย ๆ ปลาดุก) ก็ทำให้กังวลกว่าเดิม เพราะมันเตือนเกือบจะตลอด บางคืน เตือนเป็นสิบครั้งก็มี แต่การที่เราเห็นว่ามีแผ่นดินไหวที่ไหนในญี่ปุ่นบ้าง ก็ทำให้เรารู้ว่าตอนนี้รอบ ๆ ตัวเป็นยังไงกันบ้างแล้ว ใครที่เพิ่งมาอยู่ญี่ปุ่น เราแนะนำให้โหลดนะ ตั้งค่าดี ๆ จะได้ไม่ตกใจบ่อย ๆ )

ค่าครองชีพ

ค่าครองชีพที่นี่สูง (มาก) จนเราต้องทำอาหารทานเองเกือบทุกมื้อเลยล่ะ มีแวะไปทานซูชิ หรืออาหารไทย ที่เป็นอาหารราคาแพงมาครั้งสองครั้ง แต่โดยปกติแล้ว ก็ไม่ออกไปทานข้างนอกสักเท่าไหร่ ใครหลาย ๆ คนอาจจะนึกไม่ออก เพราะถ้าเรามาเที่ยว อาหารมื้อละสองร้อยบาท (600 yen) ก็ถือว่าไม่แพงมากเท่าไหร่ แต่สำหรับเราที่มาอยู่ที่นี่ ราคาที่รับได้คงอยู่ที่มื้อละ 350 yen ถ้าสูงกว่านี้ เราถือว่าแพง อาหารการกินที่นี่ก็ดีตามราคานะ ผัก ผลไม้ เส้นสด ก็สดใหม่และอร่อยพอสมควร น้ำผลไม้ราคาไม่ได้ต่างจากน้ำอัดลมสักเท่าไหร่ ทำให้เราลดการดื่มน้ำอัดลมไปได้แบบเด็ดขาดเลย และเพราะค่าครองชีพค่อนข้างสูง ทำให้เราเป็นคนที่คิดเยอะขึ้นเวลาที่จะซื้ออะไรสักอย่าง และก็เลือกทานน้อยลง หรือจะบอกว่าทานเก่งขึ้นก็ไม่ผิดสักเท่าไหร่

เราขอปิดท้ายด้วยภาพของซากุระ และดอกไม้น่ารัก ๆ จากนาโกย่า

ฝากเพจของเราด้วยนะคะ :)https://www.facebook.com/littlewalkingsheep/

12987198_472138282992268_6627891510277975041_n

12512402_1275878229106535_8551254885265624986_n

12920368_1277256792302012_4811379189243800982_n

13083184_1287384217955936_6549522558091704722_n

 

คุณพ่อ คุณแม่ ของไอ้ลูกหมา

DSC_9770160304.jpg

ไอ้ลูกหมา เจ้าหมาน้อย – คุณพ่อ คุณแม่ชอบเรียกหนูแบบนั้น หนูไม่เข้าใจหรอกว่าทำไมหนูต้องเป็น ลูกหมา ทำไมคุณพ่อ คุณแม่ ไม่เรียกหนูเป็น เจ้ากระต่ายน้อย แบบที่หนูชอบบ้าง แต่ถ้าคุณพ่อ คุณแม่อยากเรียก หนูก็ยินดีเป็นไอ้ลูกหมาให้ก็ได้ แค่ซื้อขนมให้หนูหม่ำก็พอ

พอหนูโตขึ้น คุณพ่อ คุณแม่ ก็เปลี่ยนเป็นเรียกชื่อเล่นของหนูบ้าง บางทีเรียกผิดเป็นชื่อน้อง แต่ทำไมนะ ทำไมน้องไม่เคยเป็นไอ้ลูกหมาเลย พอหนูมีน้อง คุณพ่อคุณแม่ก็เรียกชื่อน้องเลย แต่จะเรียกหนูว่าอะไรก็ได้ ยังไงหนูก็ยังชอบที่คุณพ่อ คุณแม่เรียกหนูอยู่ดี ถึงแม้บางครั้ง ขนมหนูโดนแบ่งครึ่งให้น้อง คุณแม่บอกว่า เราเป็นพี่ ต้องแบ่งขนมให้น้อง หนูก็สงสัยเสมอว่า ทำไมคุณแม่ไม่ซื้อให้น้องแยกไปเลย ทำไมต้องมาแบ่งของหนู แต่ถ้าคุณแม่ยังซื้อขนมให้หนูหม่ำเหมือนเดิม หนูก็ดีใจแล้ว

พอหนูโตขึ้นอีกนิดนึง คุณพ่อคุณแม่ ไม่ได้เรียกใครสักคนเป็นลูกหมาแล้ว หนูก็ไม่ใช่ไอ้ลูกหมา มีแต่น้องหมา (น้องหมาจริงจริง) ที่มีชื่อเรียก ก่อนจะเป็นชื่อไอ้ลูกหมาเสียอีก คุณแม่แนะนำน้องหมา พร้อมชื่อ และคำแปล เอ๊ะ แล้วชื่อหนูล่ะ ชื่อหนูแปลว่าอะไร คุณแม่บอกว่า ชื่อหนูแปลว่า หลอดนีออน

วันนี้ หนูไม่ใช่ไอ้ลูกหมาแล้ว หนูแปลงร่างเป็นหลอดนีออน

กว่าเราจะโตพอรู้ว่า คุณพ่อคุณแม่พิถีพิถันในการตั้งชื่อเราแค่ไหน ก็โตจนรู้เรื่องเกินไปเสียแล้ว เรารู้ว่า จริง ๆ แล้ว ชื่อเราแปลว่า พระอาทิตย์ เป็นแหล่งกำเนิดแสงสว่าง เป็นนัยว่า เราจะฉลาดหลักแหลม (คุณพ่อ คุณแม่อาจผิดหวังนิดหน่อยในเรื่องนี้) เรามองกลับไปถึงวันเก่า ๆ

เมื่อตอนเราเด็ก ๆ เราเป็นลูกคนแรก และคุณพ่อ คุณแม่ส่วนใหญ่ชอบเห่อลูกคนแรก จนทำให้เขาเรียกลูกสุดที่รักให้น่ารักน่าชัง พวกเขาต้องลองผิด ลองถูก เตรียมตัว มีช่วงเวลาที่ตื่นเต้นที่สุด กังวลที่สุด เครียดที่สุด มากับเรา เขาคาดหวังในตัวเรา ไม่มากก็น้อย จะตามใจมากเกินก็ไม่ได้ จะตึงไปก็ไม่ดี ในขณะที่เราอยากได้แค่ขนมประจำวัน ขอให้คุณพ่อคุณแม่จุ๊บฝันดีก็พอ นั่นสิ เราก็เหมือนเจ้าลูกหมาที่อยากได้ขนม อยากได้ความรัก โดยที่ไม่ได้คิดอะไรมากกว่านั้น

คุณพ่อ คุณแม่ เป็นเรื่องมหัศจรรย์ของไอ้ลูกหมา

DSC_9731160304.jpg

เราเติบโตมาโดยรักอิสระ มากกว่า ต้องการครอบครัวที่อบอุ่น — เราคิดแบบนี้มาตลอด จนวันหนึ่ง เราได้ย้ายมาอยู่กับคุณพ่อ ที่ทำให้เรามีอิสระจริง ๆ เรามีอิสระในการเดินทาง เพราะคุณพ่อไม่เคยไปรับ หรือส่งเราเลย เรามีอิสระในการวางแผนชีวิตของตัว เพราะคุณพ่อไม่เคยบังคับเส้นทางที่เราจะเลือก เรามีอิสระทางการเงิน เพราะคุณพ่อไม่เคยถามว่า เราเอาเงินไปทำอะไรหมด เรามีอิสระแบบที่เราไม่เคยมีตอนที่อยู่กับคุณแม่

แต่เราสนุกกับชีวิตแบบนี้อยู่ไม่นาน เรารู้สึกได้ว่า ความอิสระที่มี ไม่ใช่สิ่งที่เราถวิลหา

เรารู้สึกว่า เราอ้างว้าง เหมือนไอ้ลูกหมาที่เจ้าของไม่ให้อาหาร ไม่เล่นด้วย ไม่เอาใจใส่ —

คุณพ่อ คุณแม่ของไอ้ลูกหมาหายไปไหน หนูแค่อยากหม่ำขนม หนูแค่อยากนอนตัก หนูแค่อยากซุกซุกในอ้อมกอด

DSC_9773160304.jpg

คิดถึงนะคะ คุณพ่อ คุณแม่ของไอ้ลูกหมา กอดหนูบ้างก็ได้ หนูไม่งับหรอก หนูสัญญา

DSC_3804151017.jpg

And I’ll surrender up my heart and swap it for yours.  – Lego House, Ed Sheeran

ปล. ขออนุญาตบุคคลที่อยู่ในภาพทุกคนเลยนะคะ พอดีกุ๊กเห็นภาพเหล่านี้ แล้วนึกถึงตอนตัวเองเป็นเด็กเด็ก ถ้าอยากให้ลบออก รบกวนแจ้งมาเลยค่ะ ยินดีลบให้ค่ะ ขอบคุณสำหรับทุกรอยยิ้มค่ะ

คิด (ว่าน่าจะไป) ถึง.

DSC_0052160313

คิด(ว่าน่าจะไป)ถึง

เมื่อหลายปีก่อน อาจมีหน่วยเป็นหลักร้อย หลักพันปี มนุษย์อาจเพียงแค่จินตนาการถึงดวงจันทร์ในแบบต่าง ๆ กัน บางคนมองว่าเป็นเรื่องของดวงชะตา บางคนอาจมองลึกล้ำกว่าในทางวิทยาศาสตร์ จนกลายเป็นเรื่องราว เป็นนิทานปรัมปรามากมาย

สมัยเด็ก ๆ คุณแม่ซื้อหนังสือเล่มนึง ชื่อว่า “พระจันทร์อร่อยไหม” เป็นเรื่องราวที่วาดฝันวันเด็กของเราไว้ยิ่งใหญ่เลยทีเดียว เรื่องราวสั้น ๆ สำหรับเด็กเล่มนั้น เล่าถึงความสงสัยของเหล่าสรรพสัตว์ที่มองพระจันทร์อยู่ทุกค่ำคืน พวกเขาสงสัยว่าบนพระจันทร์เป็นอย่างไร อร่อยไหม และคิดว่าหากได้ลองชิมก็น่าจะดี สัตว์ป่าทั้งหลายต่อตัวกันสูงจากผืนดิน จนในที่สุด เจ้าหนูตัวน้อยก็เป็นสัตว์ตัวแรกที่ได้ชิมพระจันทร์ และพระจันทร์นั้นก็หวาน หอมอร่อยดังที่รอคอย หลังจากได้ชิม หนูน้อยก็แบ่งพระจันทร์ให้เพื่อน ๆ ลองทาน จนเราได้เห็นพระจันทร์ เป็นเสี้ยวแบบคืนนี้

นิทานเรื่องนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการเฝ้ามองพระจันทร์ของเรา อาจเริ่มจากอยากลองชิมเจ้าพระจันทร์ดูบ้าง โตขึ้นมาริอยากจะไปเหยียบดวงจันทร์ พอผ่านวันเวลามาแสนนาน พระจันทร์ กลายเป็นตัวแทนของความรู้สึก ความคิดถึงที่ส่งให้คนที่เรารัก

ความคิดถึงที่ส่งไปกับแสงจันทร์ แสงดาวดูเป็นเรื่องที่แสนอ่อนแอ ความคิดถึงที่ไม่กล้าเอ่ย ความคิดถึงที่กลัวคำตอบ เพราะเรารู้ว่า ความคิดถึงที่ลอยไปในอากาศนั้น ในที่สุดแล้ว ก็ไปไม่ถึงปลายทาง เมื่อมองพระจันทร์ เราจะเรียกชื่อเขาให้ดังแสนดังแค่ไหนก็ได้ เรามีอิสระ เราลดความคาดหวังให้เหลือเพียงเสี้ยว ดั่งดวงจันทร์ในวันที่อับแสง

แต่ในบางครั้ง ความบังเอิญ อาจทำให้ปลายทางนึก หรือ คิดในแบบเดียวกันกับเรา เขาอาจจะพึมพำสารภาพรักในแบบเดียวกันที่เราเอ่ยในใจอย่างเขินอาย เขาอาจกำลังแต่เพลงเคล้ากับเเสงจันทร์

เราไม่รู้ว่า หากสองฝ่ายนึกถึงกัน คิดอะไรเหมือน ๆ กัน ผ่านพระจันทร์ใต้ฟ้าเดียวกัน จะเรียกว่า “คิดถึง” ได้หรือเปล่า หากเรียกได้แบบนั้น

เราภาวนา ขอให้ทุกความคิดเดินทางถึงกัน

Original Post : https://web.facebook.com/littlewalkingsheep/

 

จักรยาน ถนนหนทาง บางกระเจ้า

ในชีวิตคนคนหนึ่ง จะตกหลุมรักกิจกรรมได้สักกี่อย่างกันเชียว สำหรับเรา กิจกรรมง่าย ๆ อย่างการปั่นจักรยาน แบกเป้ และสะพายกล้อง ถูกยกไว้เป็นสิ่งแรก ๆ ที่นึกถึง เมื่อไม่กี่วันก่อน ได้ลองเปิดอ่าน และดูรูปภาพเพื่อน ๆ ไปเที่ยวบางกระเจ้า เราเลยไม่รอช้า ตามไปปั่นจักรยานโดยไว อากาศในวันนี้ ร้อนสมเป็นประเทศไทย ไอแดดลูบเลียผิวหนังจนแสบร้อน ถ้าใครถามถึงบางกระเจ้า คงจะตอบได้เพียงว่า ร้อน ร้อน และร้อน แต่อากาศที่ร้อนแสนร้อนนั้น ไม่ได้ทำให้กิจกรรมการปั่นจักรยานสนุกน้อยลง เรายังปั่นตามแผนที่ที่ได้มาจากร้านเช่าจักรยานอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่เพียงเพราะอยากจะมาร้อนแบบนี้เพียงครั้งเดียวหรอก แต่เพราะกลัวหลงทาง และจะทำให้เราต้องอยู่กลางแดดกันนานกว่าเดิม

เราเช่าจักรยาน ตรงท่าเรือวัดคลองเตย ค่าเช่าจักรยานอยู่ที่วันละ 100 บาท พอมาทราบราคาเรือและอัตราค่าเช่าจักรยานรายอื่นทีหลังแล้ว ก็พอใจกับการเช่าจักรยานที่นี่ เพราะเขาฟรีค่าเรือไปกลับให้ และบริการเราเป็นอย่างดี จักรยานสูบลมเป็นอย่างดี ปรับเบาให้ปั่นง่ายขึ้น ถึงจะเป็นจักรยานแม่บ้านญี่ปุ่นธรรมดา ๆ ที่ไม่มีเกียร์ แต่ก็ปั่นทางไกลได้สบาย ๆ ขัดใจนิดเดียวตรงที่เบรกหน้าไม่ค่อยดีแล้ว นึก ๆ ไปก็นึกได้ว่า ตอนเช่ารถ เราไม่ได้เช็คเบรกจักรยานเลย อันตรายจริง ๆ

บางกระเจ้ามีถนนสองเลน สวนกันเกือบตลอดทาง ปั่นจักรยานง่ายบ้าง ยากบ้างตามปริมาณรถยนต์ ถนนมีขรุขระบ้าง แต่ก็ไม่มีท่อให้ลำบากใจเท่าปั่นในกรุงเทพฯ รวม ๆ แล้ว ปั่นง่าย สบาย ๆ
เอาเจ้าจักรยานแม่บ้านญี่ปุ่นมาอวดสักหน่อย ขอยกให้เป็นพระเอกของวันนี้เลย 🙂

 

ฝากติดตามรูปภาพในเพจด้วยนะคะ 🙂 https://www.facebook.com/littlewalkingsheep/

  
  
  
  

ชีวิตนักเรียนทุน ADB – JSP : การเตรียมตัว(ตอนที่ 2)

 

 

หลังจากที่เราตอบรับทุนการศึกษาของ ADB ไปแล้วนั้น ทางมหาวิทยาลัย จะให้เรากรอกเอกสารเพื่อส่งไปที่สำนักตรวจคนเข้าเมืองของญี่ปุ่น ให้ออก Certificate of Eligibility (COE) เพื่อเอาไว้ขอวีซ่า ซึ่งกระบวนการนี้ ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน

เรารอเอกสารฉบับนี้อยู่ประมาณหนึ่งเดือนนิดๆ ก็ได้เอกสารมา พร้อมกับเอกสารรับรองการเข้าเรียน และหนังสือเชิญ (Invitation Letter) ซึ่งต้องใช้กรอกในเอกสารขอวีซ่า

การขอวีซ่า

ตอนแรกเราจะไปยื่นวีซ่าที่ศูนย์รับยื่นวีซ่า สีลม ซึ่งต้องจองคิวล่วงหน้า เราลองจองออนไลน์แล้ว แต่ว่าไม่ได้รับการยืนยันอะไรเลย สุดท้าย เราเลือกที่จะไปขอวีซ่าที่ศูนย์รับยื่นวีซ่า นานา

การเดินทางไปที่ศูนย์รับยื่นวีซ่า นานา นั้นค่อนข้างสะดวก เรานั่ง BTS ลงสถานีนานา ลงที่ทางออก 3 จากนั้น เดินไปทางตึกทูแปซิฟิก (ไม่เกิน 100 เมตร) เดินเข้าตึกทูแปซิฟิกทะลุไปข้างหลัง จะเป็นอาคารวันแปซิฟิกเพลส กดลิฟต์ขึ้นไปชั้น 9 พอถึงชั้น 9 เลี้ยวซ้ายแล้วศูนย์จะอยู่ขวามือ เมื่อเดินเข้าไปถึง ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ด้านหน้าว่ามาขอวีซ่า แล้วเขาจะมีคิวให้ พร้อมแจ้งห้ามใช้โทรศัพท์ภายในศูนย์

เอกสารสำหรับขอวีซ่านักเรียน (ข้อมูลจาก http://www.th.emb-japan.go.jp/th/consular/visa9.htm )

  • หนังสือเดินทางตัวจริง มีหน้าว่างมากกว่า 2 หน้า
  • ใบคำร้องขอวีซ่า (http://www.th.emb-japan.go.jp/img/visaform.pdf) จะกรอกหรือพิมพ์ไปก่อนก็ได้ เรากรอกไปก่อน จะได้ไม่เสียเวลาและสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนที่เราไม่รู้ก่อนได้ด้วย เช่น ข้อมูลของผู้ที่เชิญเราไป หรือที่อยู่ที่ญี่ปุ่น
  • รูปถ่าย 2*2 นิ้ว ติดลงในใบคำร้องขอวีซ่า (ที่ศูนย์ไม่มีกาวให้แปะนะ ต้องให้เจ้าหน้าที่แปะให้เลย ถ้าแปะไปก่อนก็จะสะดวกกว่า)
  • แบบสอบถามเพื่อขอวีซ่า มีเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ สามารถเลือกกรอกได้เลยตามสะดวก
  • Certificate of Eligibility ตัวจริง พร้อมสำเนา (เอกสารตัวจริงจะติดกับหนังสือเดินทางกลับมา และทางตม. ญี่ปุ่นจะเป็นคนดึงเก็บไว้ตอนเราเข้าประเทศค่ะ)
  • ทะเบียนบ้านตัวจริง พร้อมสำเนา 
  • สำหรับคนที่ขอเดินทางไปญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก เขาอาจจะขอเอกสารเพิ่มเติมนะคะ ยังไงใครเคยเปลี่ยนชื่อ นามสกุล จดทะเบียนสมรส หรือเอกสารสำคัญอย่างอื่น ก็เตรียมไปเผื่อนะคะ ไม่เสียหลายเนอะ

* สำหรับคนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ต่างจังหวัด อยากให้ลองเช็คดูก่อนว่าต้องไปขอที่ต่างจังหวัดหรือเปล่า มีพี่คนที่ไปกับเรา เขามีทะเบียนบ้านอยู่ภาคเหนือ ทางศูนย์บอกว่าต้องไปขอวีซ่าที่เชียงใหม่ ยกเว้นว่า มีเอกสารยืนยันว่า ทำงานหรือเรียนอยู่ที่กรุงเทพฯ ยังไงก็เตรียมเอกสารที่มีที่อยู่ยืนยันว่าอยู่ในกทม. ไปด้วยนะคะ เช่น หนังสือรับรองการทำงาน หนังสือรับรองการเรียน

* วีซ่า จะอยู่ได้ 90 วันหลังจากที่ได้รับวีซ่า เราต้องคำนวณว่าเราขอแล้วจะครอบคลุมเวลาที่จะเดินทางเข้าประเทศหรือเปล่า

หลังจากยื่นเอกสารทั้งหมดไปแล้ว พอเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเสร็จ ก็จัดแจงจ่ายค่าธรรมเนียมตามลิ้งค์นี้เลย (http://www.jp-vfsglobal-th.com/thai/news.html) บวกกับค่าธรรมเนียมการยื่นวีซ่าอีก 535 บาท ถ้าจะส่งเป็นไปรษณีย์กลับบ้านมีเพิ่มอีกประมาณ  150 บาท ของเราไปยื่นวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาค่ะ และนัดรับวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ส่วนพี่ที่ไปด้วยกันให้ส่งกลับทางไปรษณีย์ ได้เล่มกลับก่อนเรา 1 วัน

การแจ้งประกันตนเอง ตามมาตรา 39 ของประกันสังคม  

หลังจากเราออกจากงานแล้ว เรายังจะจ่ายเงินประกันสังคมเพื่อคงสิทธิรักษาพยาบาลตามที่ประกันสังคมกำหนดไว้ และแอบหวงสิทธิการรักษาที่เราได้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ด้วยนิดนึง เลยตั้งใจจะไปต่อประกันสังคม ซึ่งต้องเปลี่ยนเป็นการประกันตนเองตามมาตรา 39 มีค่าใช้จ่ายเดือนละ 432 บาท โดยที่ประกันสังคมแจ้งให้ชำระภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน

เอกสารที่ต้องเตรียมมา

  • สำเนาบัตรประชาชน
  • กรอกแบบฟอร์มที่ประกันสังคม
  • สำเนาหน้าสมุดธนาคาร (ถ้าอยากให้ตัดบัญชีธนาคารให้เตรียมสำเนาไปด้วยเลย พอพี่เจ้าหน้าที่ถามบอกว่าจะตัดบัญชี จะมีค่าธรรมเนียมธนาคารนิดหน่อย)

 

การแจ้งว่างงาน ของประกันสังคม 

(ข้อมูลเพิ่มเติม http://www.sso.go.th/wpr/category.jsp?cat=874)

เรามีประกันสังคมอยู่ ซึ่งถ้าว่างงาน และจ่ายเงินเข้าประกันสังคมมามากกว่า 6 เดือน เราแจ้งว่างงานเพื่อรับเงินชดเชยการว่างงานได้ 3 เดือน

การยื่นว่างงานนั้น ไม่ได้ไปยื่นที่ประกันสังคมนะคะ แต่ต้องไปที่กรมจัดหางาน ในกทม. มี 10 เขต (http://www.jobdoe.com/office6/index.php/2012-09-19-08-28-50) เราสะดวกไปที่เขต 9 อยูที่ซอยนวมินทร์ 98 (ลงรถเมย์ป้ายไปรษณีย์จรเข้บัว เดินเข้าซอยนวมินทร์ 98 มาไม่ถึง 100 เมตร ศูนย์อยู่ซ้ายมือเลย

เราแจ้งประชาสัมพันธ์ว่ามาแจ้งว่างงาน และถามรายละเอียดเพิ่มเติม เพราะเราจะไม่สามารถมารายงานตัวได้ตามที่กรมจัดหางานกำหนด ซึ่งจะทำให้สิทธิการรับเงินว่างงานเราไม่ครบเหมือนคนอื่น

เอกสารที่ต้องเตรียมมา

  • แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส.2-01/7) http://www.sso.go.th/sites/default/files/2017_2.pdf 
  • แบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงาน (มีสองหน้า http://www.sso.go.th/wpr/category.jsp?cat=813
  • บัตรประชาชน ตัวจริงพร้อมสำเนา
  • สำเนาสมุดธนาคาร (ตามที่เขากำหนดไว้นะคะ)

จากนั้น เอกสารยื่นให้เจ้าหน้าที่ และพอลงทะเบียนเสร็จ จะมีใบนัดรายงานตัวของผู้ประกันตนให้ พร้อมวันที่ในการรายงานตัวทั้งสามครั้ง การรายงานตัวนั้น เขาให้เราเอาใบนัด กับบัตรประชาชนไปรายงานตัวที่สำนักจัดหางานที่ไหนก็ได้ และไปล่วงหน้าได้ไม่เกิน 7 วันเท่านั้น

ตอนแรกกังวลว่าจะใช้เวลานาน แต่จริงๆ แล้วใช้เวลาไปประมาณครึ่งชั่วโมงก็เรียบร้อย เป็นที่น่าสังเกตุว่า มีคนมาขึ้นทะเบียนว่างงานกันเยอะมากๆ ส่วนใหญ่เป็นลาออกจากที่ทำงานแบบเรา แต่ก็มีบางคนที่ถูกเลิกจ้าง มานั่งหางานกันที่ศูนย์หลายต่อหลายคน

เปลี่ยนโปรโมชั่นกับ DTAC

เราใช้โทรศัพท์แบบรายเดือยของดีแทก และตั้งใจว่าจะไม่เปลี่ยนเบอร์ เลยไปติดต่อเจ้าหน้าที่ขอคำแนะนำว่า จะทำยังไงดีถ้ายังอยากจะคงเบอร์เอาไว้ ตอนแรก เขาแจ้งว่า มีค่ารักษาสภาพเบอร์เดือนละประมาณ 99 บาท (ยังไม่รวมภาษี) เราคิดว่าแพงไป เลยตั้งใจจะเปลี่ยนเป็นแบบเติมเงิน พอจะไปเปลี่ยนจริง ๆ เจ้าหน้าที่อีกคน ได้เสนอโปรโมชั่น ค่ารักษาสภาพเบอร์เดือนละ 59 บาท และโทรได้เดือนละ 40 นาที ทดเอาไว้ใช้ตอนกลับมาได้อีกด้วย คำนวณดูแล้ว ไม่ต่างจากที่ต้องเติมเงินทุก ๆ เดือนสักเท่าไหร่ เลยตกลงปลงใจเลือกโปรโมชั่นนี้ ขอให้ทางดีแทกเปลี่ยนโปรโมชั่นวันที่เดินทางได้เลยด้วย ตอนนี้ก็ยังใช้โปรโมชั่นเดิมไปก่อนได้

จากนั้นก็ติดต่อขอตัดค่าบริการผ่านทางบัญชีธนาคาร ก็ให้ติดต่อที่ดีแทก แต่กว่าธนาคารจะอนุมัติก็ใช้เวลาประมาณ 3 รอบบิลล่ะ

เอกสารที่ต้องเตรียมมา

  • บัตรประชาชน
  • สมุดธนาคาร

เสื้อผ้า กระเป๋า และอะไร อะไร ที่กังวลไปหมด

เราเริ่มจัดกระเป๋าเดินทางแล้วล่ะ แอบเห่อและกังวลไปพร้อมกัน เราซื้อกระเป๋าเดินทางขนาด 29″ เพียงหนึ่งใบ มีเสื้อผ้าไปไม่กี่ชุด มีหลายคนบอกให้ไปซื้อที่ญี่ปุ่นจะดีกว่า เหมาะกับสภาพอากาศมากกว่า และราคาถูกกว่า เราตระเตรียมซื้ออุปกรณ์การเรียนใหม่ แต่โทรศัพท์จะไปซื้อใหม่ที่ญี่ปุ่น เตรียมสมุดบันทึก และรูปถ่ายของคนในครอบครัว เตรียมกล้องตัวโปรดให้พร้อม เตรียมอาหารไทยบางอย่างที่จะเอาไปด้วย และเตรียมเคลียร์ของที่บ้าน ถึงแม้ว่าจะเหลือเวลาอีกไม่ถึงหนึ่งเดือนก็จะเดินทางแล้ว แต่เรายังจับต้นชนปลายไม่ค่อยถูก ตอนนี้ก็คุยกับรุ่นพี่ที่อยู่ที่นู่นว่าควรเตรียมตัวยังไง

เรื่องเงินๆ ทองๆ เราไปเพิ่มวงเงินให้บัตร Master Card ของเราให้สามารถกดเงินจากไทยได้มากขึ้น ซึ่งธนาคารก็แนะนำให้เปิดเต็มวงเงินไปเลย คือ 200000 บาท และมีธรรมเนียมการถอนเงิน หรือตรวจสอบยอดเงินอยู่ที่ครั้งละ 100 บาท

ตอนนี้เรายังไม่ได้แลกเงินเลยล่ะ ค่าเงินเยนแพงมาก แลกไม่ลงเลยทีเดียว ตั้งใจว่าจะแลกไป 50000 เยนตามที่มหาวิทยาลัยแนะนำมาว่า จะต้องมีเงินมาใช้ก่อนที่เงินทุนจะออก (ไม่เกินอาทิตย์ที่สองของเดือน) ประมาณเท่านี้ หวังว่าจะถูดลงสักครึ่งบาท จะได้แลกได้อย่างสบายใจ :”)

เมื่อต้นเดือนมีนาคม ทางมหาวิทยาลัยเพิ่งแจ้งหอพักที่ได้ เป็นหอพักในมหาวิทยาลัย และให้อยู่ได้ 4 เดือน  ก่อนจะต้องหาหอพักใหม่อยู่เอง ตอนนี้ยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นยังไง เรื่องที่พักก็เป็นเรื่องที่กังวลมากเรื่องนึงเลย แบบพอจะรู้ว่าที่พักญี่ปุ่นราคาค่อนข้างแพง กลัวเงินทุนที่ได้จะไม่พอ แต่ก็มีรุ่นพี่แนะนำให้รีบไปจองหอพักในมหาวิทยาลัยตั้งแต่เดินทางไปถึงเลยล่ะ

 

ตอนที่มาเขียนครั้งหน้า คงเป็นตอนที่อยู่ที่ญี่ปุ่นแล้ว ยังไงถ้ามีคำแนะนำก่อนเดินทาง จะยินดีมากเลย ตอนนี้ตื่นเต้นด้วย กังวลก็เยอะ

(Check list ของก่อนเดินทางของเรามีอยู่นะ ยังไงหลังไมค์มาได้นะคะ)

 

ชีวิตนักเรียนทุน ADB – JSP : จุดเริ่มต้น (ตอนที่ 1)

สวัสดีค่ะ

เราเพิ่งได้รับทุนการศึกษาของ ADB ーJSP ไปเรียนต่อปริญญาโท ด้าน Peacebuilding ที่มหาวิทยาลัยนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น ในปีการศึกษา 2016 นี้ค่ะ (เว็บไซด์ของคณะค่ะ http://www.gsid.nagoya-u.ac.jp/global/index-en.html)

ทุน ADB – JSP เป็นทุนการศึกษาของ Asian Development Bank ที่มอบให้บุคคลทั่วไปในประเทศที่เป็นสมาชิกของ ADB ค่ะ มีทุนสำหรับหลายสาขาวิชา หลายมหาวิทยาลัย และหลากหลายประเทศ คิดว่าน่าจะครอบคลุมความสนใจของใครหลายๆคนเลยนะคะ

รายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซด์นี้นะคะ >>  http://www.adb.org/site/careers/japan-scholarship-program/main

เกริ่นก่อนนิดหน่อย เราชื่อ กุ๊ก ค่ะ จบปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกรดโอเคพอไปวัดไปวา ชีวิตการทำงานไม่ค่อยโดดเด่นเท่าไหร่ค่ะ เคยเป็นพนักงานจ้างเหมาบริการอยู่ที่กรมการกงสุล ปีนิดๆ ก่อนจะย้ายมาทำงานอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วงเรียนหนังสือเคยทำงานอาสามาบ้างนิดหน่อย ไม่ได้เป็นเด็กกิจกรรมจ๋า ค่อนข้างตั้งใจเรียนนะ เป็นคนธรรมด๊าธรรมดา ที่อยากไปเรียนเมืองนอก (ฝันจะไปอยู่ต่างประเทศมาตั้งแต่ม.ต้นแล้ว ได้ไปสักที เย่ๆ) เมื่อปีก่อน เราสมัครทุนของมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษไปสองสามทุนค่ะ และได้ทุนการศึกษาบางส่วน น่าเสียดายคุณพ่อไม่มีกำลังทรัพย์ส่งไปเรียน  แต่ปีนี้ ชีวิตของเราจะเปลี่ยนไปอีกนิดนึงแล้วล่ะ เพราะเราได้ทุนไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่นค่ะ

เราสมัคร Graduate School of International Development ด้าน International Cooperation Studies โปรแกรม Peacebuilding เปิดรับสมัครช่วงเดือนเมษายนถึงต้นเดือนกรกฎาคมของทุกปี (ปีนี้กำลังจะเปิดรับปีการศึกษา 2017 แล้วนะคะ สนใจดูรายละเอียดในได้เว็บเลยเนอะ )  ADB จะมอบทุนการศึกษาครอบคลุมค่าใช้จ่ายเกือบทั้งหมดเลยค่ะ  ไม่ว่าจะเป็น ค่าเทอม ค่าใช้จ่ายส่วนตัวรายเดือน อุปกรณ์การศึกษา หนังสือ และการทำธีสีส ค่าเดินทางไป – กลับ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยมีเงื่อนไขว่าให้กลับมาทำงานในประเทศของตนเองเป็นเวลา 2ปี (เหมือนเขาอยากให้เรากลับมาพัฒนาประเทศของตัวเอง แต่ไม่ได้บังคับว่าต้องไปทำที่หน่วยงานไหนนะคะ เขาเปิดกว้างพอสมควรเลยล่ะ)

ทุน ADB ーJSP จะให้เราสมัครโดยการส่งเอกสารไปที่มหาวิทยาลัยที่มีโปรแกรมที่เราอยากเรียน และทางมหาวิทยาลัยจะคัดเลือกจากเอกสาร และผู้ที่ผ่านเกณฑ์จะถูกส่งชื่อไปยัง ADB ーJSP เพื่อคัดเลือกผู้ที่ได้รับทุนอีกครั้งค่ะ การคัดเลือกจะวัดจากเอกสารที่เราเขียนไปทั้งหมดค่ะ คิดว่า Research Proposal เป็นส่วนสำคัญของการพิจารณาให้ทุนเลยล่ะ (ตอนนี้อยากยกมือขอเปลี่ยนหัวข้อใจจะขาดแล้วล่ะค่ะ หัวข้อเดิมนั้นน่าจะไม่จบในสองปีที่ได้ทุน ฮือๆ)

เอกสารสำคัญที่ต้องส่งไปยังมหาวิทยาลัย

  • Information Sheet เป็นฟอร์มของ ADB ーJSP โหลดได้ที่ http://www.adb.org/site/careers/japan-scholarship-program/procedures-applying
  • Application Form พร้อมรูปขนาดพาสปอร์ต 3 รูป
  • เอกสารแสดงรายรับของตัวเราและผู้ปกครอง หรือ ครอบครัว
  • เอกสารรับรองวุฒิระดับสูงสุด หรือระดับที่จะใช้สมัคร
  • ทรานสคริปตัวจริง
  • สำเนาหนังสือเดินทาง
  • Curriculum Vitae
  • คะแนน TOEFL IELTS หรือ TOEIC
  • จดหมายแนะนำ 2 ฉบับ
  • งานวิจัยและประสบการณ์ทำงาน
  • Research Proposal (ประมาณ 800 คำ)

เราส่งเอกสารไปช่วงเดือนกรกฎาคม 2558  ค่าไปรษณีย์ด่วนไปญี่ปุ่น 450 บาท (แต่ตอนนี้ค่าส่งไปรษณีย์แบบด่วนขึ้นค่าธรรมเนียมเป็น 850 บาทแล้วนะคะ) เอกสารใช้เวลาเดือนทางประมาณ 4 วันก็ถึงมหาวิทยาลัย และมีเจ้าหน้าที่ส่งอีเมลมาบอกว่าได้รับเอกสารแล้ว เราโดนขอเอกสารเพิ่มเติมค่ะ เพราะคุณพ่อกับคุณแม่แยกกันอยู่ ทำให้มีเอกสารรายรับเฉพาะของคุณพ่อและของเราค่ะ พอส่งเอกสารไปทางอีเมลแล้ว ทางมหาวิทยาลัยก็แจ้งให้รอผลการคัดเลือกทางไปรษณีย์ค่ะ

เราได้จดหมายฉบับแรกจากมหาวิทยาลัย ช่วงกลางเดือนกันยายน 2558 แจ้งว่าผ่านการคัดเลือกระดับมหาวิทยาลัย และจะแจ้งผลการคัดเลือกจาก ADB ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2559 ค่ะ ระหว่างนั้น ก็รอการคัดเลือกไปเรื่อยๆ รออีเมล ช่วงนั้น เราสอบนักการทูตพอดี ทำให้มุ่งไปเรื่องการทำงานมากขึ้น ไม่ได้ตามผลการคัดเลือกสักเท่าไหร่ และจากการที่หาข้อมูลเกี่ยวกับคนที่ได้ทุนนี้ก็มีน้อยมาก จนทำอะไรไม่ได้นอกจากรออย่างเดียวเลยล่ะค่ะ

ช่วงปลายเดือนตุลาคม 2558 จดหมายฉบับที่สองเดินทางมาถึงมือเรา ครั้งนี้ ความหนาเพิ่มจาก 1 แผ่น เป็น 3 แผ่น ใบแรกเป็นใบแจ้งผลการคัดเลือกว่า เราได้ทุนการศึกษา ใบที่สองเป็นรายละเอียดทุนและแบบตอบรับทุน และใบสุดท้ายเป็นใบตอบรับการเข้าเรียน เอกสารเป็นแผ่นบางบางสีน้ำตาล ประทับตราอย่างประณีต น้ำตาเราซึมนิดหน่อย ในตอนที่ได้รับผลทุนเหมือนทุกอย่างรอบตัวหยุดนิ่งไปหมด มันอึ้งนะ ที่เราจะได้คัดเลือกเป็นนักเรียนทุนที่ญี่ปุ่น

เราเซ็นเอกสารสองฉบับนั้น ส่งไปรษณีย์กลับไปที่ญี่ปุ่น เราเป็นนักเรียนทุนแล้วนะ เราจะได้เรียนต่อแล้ว ดีใจที่สุดเลยล่ะ

หลังจากนั้นไม่นาน Tajima-san ที่เป็นผู้ประสานงานโครงการ ก็ส่งอีเมลมาแนะนำตัว และอธิบายสิ่งที่เราจะต้องทำ ต้องเตรียมตัว คุณคนนี้แหละ ที่จะเป็นคนที่ให้ความช่วยเหลือเราในทุกทุกเรื่อง ทั้งเรื่องเอกสาร การเตรียมตัว และปัญหาเรื่องการปรับตัว เธอคนนี้บอกว่า เราต้องกรอก COE  ของญี่ปุ่นเพื่อส่งไปให้ทางรัฐบาลญี่ปุ่นออกเอกสารมาให้เราขอวีซ่า ซึ่งเจ้า COE นี้จะใช้เวลาดำเนินการอย่างน้อย 1 เดือน ซึ่งเขาจะดำเนินการให้เราในช่วงเดือนธันวาคม 2558 พร้อมเพื่อนๆ ที่ได้รับทุนเดียวกันกับเรา

ระหว่างนั้น เราได้เจอพี่แชมป์ที่ตอนนี้กำลังเรียนโปรแกรมเดียวกันอยู่ พี่เขาก็แนะนำให้เรารู้จักกับพี่คนไทยอีกคนที่จะไปด้วยกัน คือ พี่หนุ่ย พี่สาวคนนี้จะไปเรียนคณะเดียวกัน แต่คนละโปรแกรม พอได้เจอเพื่อนที่จะเดินทางไปด้วยกัน ก็ทำให้โล่งใจไปในระดับหนึ่ง เราปรึกษากัน คุยกัน แชร์ความรู้สึกกัน ทำให้รู้ว่าอย่างน้อยที่ญี่ปุ่น เราจะยังมีรุ่นพี่ และพี่หนุ่ยที่จะอยู่ข้างๆกัน

ต้นเดือนมกราคม 2559 มหาวิทยาลัยส่งเอกสารรับรองการได้รับทุนการศึกษามาให้ เผื่อบางคนต้องใช้เอกสารตัวนี้ยื่นที่ทำงานเพื่อลาเรียนต่อ หรือบางประเทศต้องใช้ยื่นตอนขอวีซ่า ในเอกสารจะระบุวันเวลาเดินทางไปกลับ ( เมษายน 2559 –  มีนาคม 2561) และเงินทุนที่ได้ในแต่ละเดือน (ทุน ADB จะได้เงินรายเดือนเท่าทุนรัฐบาลญี่ปุ่น หรือทุนมงค่ะ)

จากนั้น ทางมหาวิทยาลัยจะจองตั๋วเครื่องบินให้ เพราะเขาบังคับให้เราเดินทางไปญี่ปุ่น ในวันที่ 1 เมษายน 2559 (เน้นด้วยว่า “บังคับ” ขีดเส้นใต้ว่า ไม่ให้ไปถึงเร็วหรือช้ากว่านั้น และไม่ให้เปลี่ยนสายการบิน) ของเราได้บิน การบินไทย เที่ยวบินช่วงเช้าของวันที่ 1 เมษายน 2559

ช่วงสิ้นเดือนมกราคม 2559 มหาวิทยาลัยก็ส่ง COE พร้อมกับ Invitation letter มาเพื่อให้เราขอวีซ่า ในนั้นจะระบุ ที่อยู่ของเราช่วง 6 เดือนเเรก (เราเองก็ยังไม่แน่ใจว่าจะได้อยู่หอนี้จริงๆหรือเปล่า เอาไว้มาเล่าต่อนะคะ)

Tajima-san นัดแนะให้ไปขอวีซ่า ถามไถ่เรื่องเอกสารว่ามีปัญหาอะไรบ้างไหม เขาดูแลค่อนข้างดีเลยทีเดียวล่ะ

ปีนี้ มีผู้ได้รับทุนการศึกษานี้ทั้งหมด 6 คน เป็นคนไทย 2 คน คนเวียดนาม 1 คน และคนฟิลิปปินส์ถึง 3 คน เป็นผู้หญิงทั้งหมด (อ่อ แอบไปดูข้อมูลย้อนหลัง รู้สึกว่าเขาสนับสนุนให้ผู้หญิงมาเรียนมากขึ้น มีสัดส่วนนักเรียนหญิงเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์เลยล่ะ และปีก่อนๆ จะมีผู้ได้รับทุนประมาณ 6-7 คน ผู้สมัครอยู่ที่ประมาณ 20-30 คน)

พอทราบว่าได้รับทุน เราก็เริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นด้วยตนเอง ถึงแม้ว่าเราจะไปเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษ แต่การใช้ชีวิตในประเทศที่ไม่ค่อยใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันก็ทำให้กังวลเรื่องภาษาอยู่ไม่น้อย ตอนนี้ พูดได้นิดนึง นิดเดียวจริงๆ และเราเพิ่งลาออกจากงานที่กำลังทำอยู่ เราขอลาออกมาเตรียมตัวก่อนเดินทางประมาณ 1 เดือน ตอนนี้ทำงานเดือนสุดท้ายแล้วล่ะ 🙂

อยากให้มาสมัครทุนนี้กับเยอะๆ โอกาสของคนไทยมีไม่น้อยเลยนะ เรามีศักยภาพที่จะไปเรียนต่อได้ มีเงินทุนสนับสนุนทุกอย่าง เตรียมเอกสารเยอะนิดหน่อยแต่ก็สนุกดีนะ ใครมีคำถามติดต่อมาได้เลย พร้อมตอบทุกคำถามค่ะ

Twitter : @kooktfc

Facebook : https://web.facebook.com/kooktfc

 

ขอให้มีวันดีดีนะคะ

 

 

#2 a day that changed my life. 

ตัวที่ขยับคลายเมื่อยบนที่นั่งลายไม้ของขบวนรถไฟมุ่งหน้าสู่ทิศเหนือ ลมกระทบใบหน้า เสียงหัวเราะและมิตรภาพเพิ่มความอบอุ่นให้ฤดูหนาว
หนุ่มสาวกว่าสามสิบชีวิต แววตามุ่งมั่นจากเมืองหลวง กับแผนการส่งมอบความสุข โอกาส และจุดประกายความฝันให้ชาวบ้าน สานฝันคนรุ่นเก่า ต่อยอดสู่คนรุ่นใหม่
แดดฤดูหนาวเป็นนั้นร้อนเป็นพิเศษ เพิ่มเติมหยาดเหงื่อด้วยการตัดไม้ สานเหล็ก ผสมปูน ปีนป่ายมุงหลังคา น้ำใจที่หยิบยื่นแก่กันสร้างความชุ่มฉ่ำหัวใจไม่มากแต่ไม่น้อย
ค่ำคืนของฤดูหนาว ประดับด้วยเสียงหัวเราะของเหล่าดวงดาว หนุ่มสาวก่อไฟเสวนา ไม่นานนักความเหน็ดเหนื่อยก็จางหายไปกับไอควัน
การเดินทางในฐานะอาสาครั้งแรก เปลี่ยนมุมมองในการใช้ชีวิต เพิ่มเติมมุมมองของชาวบ้านชายขอบชายแดน รวมไปถึงชนกลุ่มน้อย มองเห็นเด็ก ๆ อนาคตของครอบครัว ของหมู่บ้าน ของสังคม หรือแม้กระทั่งของประเทศที่มีศักยภาพ หากแต่ขาด “โอกาส”
“โอกาส” เป็นของผู้แสวงหา

“โอกาส” เป็นจุดประสานความฝันเข้ากับความเป็นจริง

“โอกาส” เป็นสิ่งที่เราควรขอบคุณ
ขอโอกาสที่ดีสถิตอยู่กับท่าน

แล้วอย่าลืมส่งต่อโอกาสด้วยนะคะ
#adaythatchangedmylife
ปล. ขอบคุณ ค่ายรัฐฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พวกคุณเจ๋งที่สุดไปเลย

 

 

ขอบคุณ campaign  #adaythatchangedmylife ของ aday ด้วยค่ะ ที่สร้างแรงบันดาลใจ 🙂

#1 กล่องของฝัน.

“อยากวิ่งมาราธอน”

คนเราย่อมมีความใฝ่ฝันของแต่ละคน เป็นเหมือนกล่องของขวัญส่วนตัว บางคนอยากรวยพันล้าน (เราคนนึงแหละที่อยาก) บางคนอยากเที่ยวรอบโลก (อันนี้เราก็อยาก) บางคนอยากอุทิศชีวิตช่วยเหลือคนอื่น ใช่ เราต่างมีความฝัน อาจเป็นความฝันชิ้นน้อยๆ หรือความฝันชิ้นใหญ่บะเร่อ และหลายๆคน อาจมีกล่องของ “ฝัน” หลายชิ้น หลายขนาด หลากสีสัน

เมื่อตอนเด็กๆ เราเป็นเด็กซนคนหนึ่ง เราหัดวิ่งทุกเช้า ปั่นจักรยานทุกเย็น (เพื่อไปฝึกเล่นว่าว) วันไหนฝนบังเอิญตก เราก็ยังมีกิจกรรมสำรอง วิ่งเล่นกลางฝนตามประสาเด็กๆ

เราวิ่งมินิมาราธอนครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 11 ขวบ เป็นการวิ่งรายการแรก และรายการเดียวของช่วงชีวิตนั้น เพราะอาการบาดเจ็บที่ข้อเท้าและเข่า

เราวิ่งไม่เร็วสักเท่าไหร่ เราหายใจไม่ค่อยทัน เราเพียงแค่วิ่งเพื่อจะได้วิ่ง เพียงเท่านั้น  วันนั้น เราตัดสินใจว่า ถ้าข้อเท้าหายเจ็บเมื่อไหร่ อยากจะลองวิ่งมาราธอนสักครั้ง

ความโชคร้ายของความฝันครั้งนั้น คือ เรื่องราวของข้อเท้าเป็นเรื่องเรื้อรัง บางครั้งปวดขึ้นมาถึงเข่า คุณหมอแนะนำให้เลิกเล่นกีฬาที่ต้องใช้ข้อเท้าเยอะๆ คุณแม่ขีดระเบียบข้อใหม่ขึ้นมาเป็นของขวัญเฉพาะของเรา     เราห่างหายจากกิจกรรมที่คุ้นเคยไปคล้ายกับการหักดิบการสูบบุหรี่ เราเริ่มผันตัวเองไปเป็นหนอน(ที่มักจะนอนหลับบนกอง)หนังสือ  ความฝันค่อยๆ จางหายไป จากเป็นไฟที่ลุกโชน กลายเป็นถ่านไฟร้อน ไม่นานควันก็เริ่มจางหายไป คงเหลือไว้เพียงเถ้าของความฝัน

เขาว่ากันว่า ในความโชคร้ายย่อมมีความโชคดี

เมื่อวันหนึ่ง การปั่นจักรยานได้กลับเข้ามาเป็นสาระสำคัญของชีวิต แน่นอนล่ะ การปั่นจักรยานส่งผลต่อข้อเท้าน้อยกว่าการวิ่ง และยังช่วยรักษาอาการเจ็บปวดที่เข่าได้ระดับหนึ่ง (แต่ก็ปวดอยู่หลายทริปกว่าจะอาการดีขึ้น) เราพยายามแก้ไขจุดอ่อนของร่างกายทีละจุด อาการยังพอมีให้รู้สึกบ้าง แต่ก็เหมือนมีเพื่อให้รู้สึก แต่ไม่ได้ทรมานกับสิ่งที่เกิดขึ้น เราเริ่มเดินป่าและปีนเขา ซึ่งทำให้รู้จักจังหวะการเดิน และการหายใจได้ดีขึ้นอีกระดับหนึ่ง จากคนที่ไม่ควรจะใช้งานข้อเท้าและเข่า กลายเป็นคนที่ปีนเขาได้ในอัตราเร็วเดียวกับเพื่อนร่วมทางที่แข็งแรง พอข้อเท้าไม่งอแงแล้ว เราก็ดีใจ

. . กล่องความ”ฝัน” . .

“พรุ่งนี้ไปวิ่งกันไหม”

เจ้าความกังวล ที่เป็นจิตใต้สำนึกของเราทุกคนนี่แหละ ที่ห้ามเราไว้ ไม่ให้ส่งตัวเองไปสุ่มเสี่ยงกับอาการบาดเจ็บ 

“ไปค่ะ” กล่องความฝันตะโกนแทรกขึ้นมา

ไปสิ จะรออะไร เชื่อเถอะว่า ความพยายามจะทำให้เราเอาชนะความเจ็บปวดทุกอย่างได้ง่ายขึ้น เชื่อเถอะว่า ถ้ายังไม่หมดลมหายใจ ไม่มีอะไรที่เกินความพยายามของเราหรอก

ในวันที่ ความพร้อมของหัวใจ เต้นจังหวะเดียวกับ ความพยายาม อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้ (ถ้ามีปาปริก้า) อาจจะไม่ร้อยเปอร์เซ็น แต่หากเราพยายามอย่างสม่ำเสมอ ความสำเร็จจะต้องก้าวเข้ามาในจังหวะเดียวกับ หัวใจยิ้มกว้างเป็นแน่

เราวิ่งไม่เร็วสักเท่าไหร่ เราหายใจไม่ค่อยทัน เราเพียงแค่วิ่งเพื่อจะได้วิ่ง เพียงเท่านั้น

วันนี้ เราเพิ่งจบ CU FUN RUN 2015 การวิ่งรายการแรกในรอบ  10 ปี ด้วยระยะทางเพียง 5.5 กิโลเมตร รอบจุฬาฯ เทียบไม่ได้เลยกับมาราธอนหรือ มินิมาราธอน

เราเหนื่อย แต่เราสนุก เราวิ่งบ้าง แต่ก็แอบเดินบ่อยๆ เรามีเหงื่อออก แต่พออาบน้ำแล้วกลับสดชื่นกว่าที่เคย เราขยับช้า แต่ความฝันเราวิ่งเร็ว เรากังวล แต่เราจะพยายาม.

เราวิ่งไป 5.78 กิโลเมตร ได้เหรียญที่ระลึกจากงาน เราเข้าเส้นชัยคนที่สามร้อยนิดๆ เราใช้เวลาไปตั้ง 45 นาที

เราเชื่อว่าคุณมีกล่องของ”ฝัน” อย่ารอช้า อย่าคิดว่าทำไม่ได้ กล่องนั้นเป็นของคุณ เป็นกล่องเฉพาะตัวด้วยนะ คุณมอบให้แฟน ให้ลูก ให้คนอื่นทำแทนคุณไม่ได้หรอก เชื่อเถอะว่าไม่ภูมิใจหรอก มาเถอะ เรามาแกะกล่องของฝันไปด้วยกันนะ 🙂

อยากวิ่งตามความฝันด้วยกันไหมล่ะ